แก้ "มาตรา 112" ฉบับ "เสรีพิศุทธ์" คิดได้ แต่ ทำไม่ได้
ประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ปรากฎชัดแจ้ง ในความคิดของ "ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย" ซึ่งบทเสนอนี้ สุดท้าย มีบทที่เป็นที่ยอมรับว่า "คิดได้ แต่ทำไม่ได้"
การปลุกกระแส แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยการกระทำที่เข้าลักษณะความผิดต่อองค์ประมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่มีสาระว่า
"ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”
ที่กลุ่มของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนายนประชาธิปไตย อดีตนักโทษคดี112 ผลักดันผ่านข้อเรียกร้องที่เสนอไปทาง “องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)” เมื่อวันสิทธิมนุษยชนสากล ที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเดียวกับที แกนนำคณะราษฎร ประกาศชัดถึงกิจกรรมยกเลิกกฎหมายมาตราดังกล่าว เพราะอ้างว่า ปิดกั้นเสรีภาพต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
หลังการขับเคลื่อนไม่นาน มีนักการเมืองในสภาฯ รับข้อเสนอและทำนองจะเห็นด้วย ซึ่ง “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย” เป็นหนึ่งในนั้น และถึงขั้นตั้งโต๊ะแถลงสิ่งที่คิด คือ
การแก้ไข และปรับปรุง มาตรา 112 สาระคือ คงกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสถาบันไว้ แต่เพื่อลดปัญหาที่มาตราดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง ควรแยก ประเด็นหมิ่นประมาท ออกไปเป็นความท้ายของมาตรา 326 พร้อมกำหนดบทลงโทษให้รุนแรงกว่าบุคคลทั่วไป
ส่วนประเด็นอาฆาตมาดร้าย ยังคงบัญญัติไว้ในมาตรา 112 เพื่อให้ลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เช่นเดิม
สำหรับมาตรา 326 นั้นเป็นมาตรา ที่อยู่ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง ซึ่งมีสาระสำคัญ ในวรรคแรก ว่า "ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เหตุผลที่เสนอดังนั้น เพื่อให้การใช้สิทธิฟ้องร้อง กรณีบุคคลดูหมิ่น ให้เป็นพระราชวินิจฉัยของ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แทนการเปิดกว้างว่า “ผู้ใด” มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิดได้
และเหตุผลประการสำคัญ ที่ “เสรีพิศุทธ์” กล่าวอ้างคือ มีกระบวนการเอาผิด แกนนำคณะราษฎร63 ซึ่งเป็นเยาวชน ด้วยการใช้กฎหมายมาตรา 112 และเข้าใจว่า ผู้ใช้ให้เอาผิดคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม” ฐานะคู่ขัดแย้งกับ “ม็อบคณะราษฎร63” ดังนั้น ความไม่ยุติธรรมต้องเกิดขึ้นแน่นอน
สำหรับไอเดียที่ถูกเสนอ ให้ปรับปรุงมาตรา 112 แต่ไม่กำหนดเงื่อนไขการบังคับใช้ หรือ จำกัดดุลยพินิจ จะแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งกันทางการเมืองได้อย่างไร? และกรณีให้ พิจารณาฟ้องคดีหมิ่นประมาทเอาเอง เท่ากับ ผลักให้ “สถาบันเบื้องสูง” เผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างประชาชนหรือไม่? เป็นสิ่งที่ “หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย” ไม่ได้ตอบ
กับสิ่งที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ คือ กระบวนการของสภาฯ คือ เสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ให้พิจารณานั้น “เสรีพิศุทธ์” บอกชัดคือ ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะส.ส.พรรครัฐบาลไม่เอาด้วย เสนอไปยังไงไม่ผ่านวาระแรกแน่นอน
กับไอเดีย เสนอให้แก้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อสภาฯ นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อ 8 ปีก่อน สมัยรัฐบาลของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ“ เคยมีกลุ่มวิชาการในนาม “นิติราษฎร์” เคยผลักดันและเสนอร่างแก้ไขให้ ส.ส.พรรครัฐบาลพิจารณา
โดยย้ายมาตรา 112 ออกจากลักษณะความผิด เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แต่ให้เป็นลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยแก้ไขในหลายประเด็น
อาทิ บทลงโทษผู้ที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น แต่ที่ฮือฮามากที่สุด คือ เขียนความกฎหมายให้คุ้มครองผู้ที่แสดงความคิดเห็นอย่างสุจริตต่อสถาบันเบื้องสูง และห้ามบุคคลทั่วไป กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติ และให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษการกระทำผิดแทน
ซึ่งผู้นำรัฐบาลในยุคนั้น “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ให้ความเห็นไว้เมื่อ 24 มกราคม 2555 ว่า “รัฐบาลไม่มีแนวคิดแก้ไขมาตรา 112 พร้อมย้ำว่า ไม่เอาสถาบันเข้ามายุ่งเกี่ยว” ทำให้ร่างแก้ไขของ “นิติราษฎร์”นั้น ต้องถูกตีตก โดยไม่ทันให้ผู้เสนอร่างแก้ไขนำเสนอด้วยซ้ำ
ดังนั้นหากเรื่องนี้จะถูกยกมาพูดถึงใน “รัฐสภา” อีกครั้ง เชื่อว่าจุดจบจะเหมือนกับปี 2555 ที่ไม่มีใครยกเรื่องเข้าสู่การพิจารณา
กับไอเดียของ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์”ที่ยกมาฉายต่อสังคม ช่วงสายวันที่ 14 ธันวาคม หลังการสัมภาษณ์เกือบๆ 1 ชั่วโมง มีคำตอบสุดท้ายในตัว
คือ “คิดได้ แต่ เป็นไปไม่ได้”.