ทำไมต้องไป 'เลือกตั้ง อบจ.' เปิดงบ 2.8 หมื่นล้าน จังหวัดไหนได้มากสุด!
จับตา "เลือกตั้ง อบจ." ครั้งแรกในรอบ 6 ปี ที่ไม่ได้มีความหมายแค่เข้าคูหา กาบัตรเลือกตั้ง แต่ยังซ่อนการยึดโยงของการเมืองท้องถิ่น กับการเมืองระดับชาติเอาไว้อย่างแนบแน่น ชนิดที่เราอาจไม่ทันคิดถึง
การเลือกตั้งท้องถิ่น คำนี้ห่างหายไปจากหน้าการเมืองไทยหลายปี เหตุผลหลักมาจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 จึงทำให้การเลือกตั้งนี้ถูกชะลอไป ส่งผลให้หลายจังหวัดมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นคนหน้าเดิมก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร บางพื้นที่ 4 ปี บางพื้นที่ 6 ปี หรือบางพื้นที่นานที่สุดถึง 8 ปี
แต่ประเด็นการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ถูกพูดถึงอยู่หลายครั้งว่า ควรมีการเลือกตั้งเพื่อให้จังหวัดได้เดินหน้าเสียที แต่ก็ถูกเลื่อนออกไปจนล่วงเลยมาถึงปี 2563 และในที่สุดรัฐบาล และ กกต. ก็ได้ฤกษ์เคาะวันเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นวันที่ 20 ธ.ค.นี้ แต่กระแสในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยังคงเบาบางเมื่อเทียบกับครั้งก่อน ๆ แม้ว่าจะมีผู้แข่งขันหน้าใหม่และหน้าเดิมร่วมประชันในสนามท้องถิ่นก็ตาม
- สถิติที่น่าสนใจ เลือกตั้ง อบจ.
เมื่อการเลือกตั้ง อบจ. ที่ห่างหายไป 6 ปีกลับมาอีกครั้ง หลายคนอาจคาดหวังว่าจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาให้เลือกในสนามนี้ แต่เมื่อกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวมข้อมูลพื้นฐานของผู้สมัครนายก อบจ. 2563 พบว่า จากผู้สมัครทั้งหมด 331 คน มีผู้สมัครอายุเกิน 50 ปี มากกว่าครึ่ง โดยอายุเฉลี่ยของผู้สมัครทั้งหมดอยู่ที่ 55 ปี
ผู้สมัครอายุน้อยที่สุดคือ 35 ปี เพียง 4 คน และผู้สมัครที่อายุมากที่สุดอยู่ที่ 81 ปี มี 1 คน
ส่วนความหน้าเก่า-ใหม่ ในสนามนั้น พบว่า มีผู้สมัครที่เคยเป็นนายก อบจ. มาแล้วทั้งสิ้น 52 คน คิดเป็น 15.71% และผู้สมัครที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งนายก อบจ. มาก่อนมีถึง 279 คน คิดเป็น 84.29%
ในสัดส่วนของเพศของผู้สมัครผู้นำท้องถิ่น พบว่า มีผู้สมัครที่เป็นผู้ชาย 285 คน คิดเป็น 86.10% ในขณะที่ผู้หญิงเพียง 46 คน คิดเป็น 13.90% เท่านั้น
อีกสิ่งที่น่าสนใจของสนามเลือกตั้ง อบจ. คือ จังหวัดที่มีผู้สมัครลงแข่งขันสูงที่สุดคือ จังหวัดขอนแก่น เพราะมีผู้สมัครถึง 10 คน ในขณะที่จังหวัดที่ผู้สมัครน้อยที่สุดเพียง 1 คน คือ อุทัยธานี เพชรบุรี และกระบี่ และผู้สมัครทั้งสามจังหวัดยังดำรงตำแหน่งนายก อบจ. คนปัจจุบันอีกด้วย
- ประวัติและที่มา อบจ.
เพื่อให้รู้จักองค์การบริหารส่วนจังหวัดมากขึ้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สัมภาษณ์ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ถึงประวัติและที่มาของการกระจายอำนาจของท้องถิ่นหลังปี 2475 ให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
อ.ธำรงศักดิ์ เล่าว่า แต่เดิมการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎรเกิดขึ้นมาพร้อมกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยการสร้างเทศบาลขึ้นมาทั่วประเทศโดยใช้ตำบลให้เป็นเทศบาล ภายใต้ระยะเวลาที่เปลี่ยนไปนั้น ก็ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้เกิดการหยุดชะงักของการเติบโตของเทศบาล ผ่านการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2490
"ในที่สุดรัฐบาลทหารที่ทำการรัฐประหารอยู่ตลอดเวลา ก็แช่แข็งท้องถิ่นได้สำเร็จในช่วงของเผด็จการจอมพลกฤษดิ์ และจอมพลถนอม"
เวลาผ่านไปถึง 14 ต.ค. 2516 พลังของประชาชนทำให้เกิดการผลักดันที่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอีกครั้งหนึ่ง จึงเริ่มมีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ เริ่มทำให้เทศบาลเติบโตมากขึ้น และความพยายามที่จะหยุดยั้งก็เกิดขึ้นเป็นระยะ
เช่นเดียวกับ การรัฐประหาร 6 ต.ค. 2519 ฝ่ายคณะทหารก็แช่แข็งท้องถิ่นเป็นเวลาอีก 10 ปี จนกระทั่งมีการต่อสู้ และในที่สุดก็ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนในการเลือกตั้งท้องถิ่น และชัยชนะของประชาชนในพฤษภา 2535 จึงมำให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 และให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นทุกระดับโดยตรง และการเมืองท้องถิ่นกลับมาถูกแช่แข็งอีกครั้งเมื่อเกิดรัฐประหาร 2557 นานถึง 6 ปี
อ.ธำรงศักดิ์ มองว่า การเมืองท้องถิ่นที่เติบโตขึ้นมาหลังเหตุการณ์ พฤษภา 2535 เหตุการณ์ครั้งนี้เปลี่ยนโฉมหน้าของการเมืองท้องถิ่นไปอย่างสิ้นเชิง เพราะปัญหาของท้องถิ่น หมู่บ้าน จังหวัดต่างๆ ได้รับการแก้ไข
"ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา สิ่งที่เข้าไปท้องถิ่นในช่วงหลังจากมี อบต.ก็คือเรื่องของถนน ไฟฟ้า และน้ำประปา 3 อย่างนี้ เปลี่ยนโฉมหน้าชีวิตของคนทั้งประเทศเลย คุณภาพชีวิตมันเปลี่ยน ซึ่งตรงนี้เราเรียกว่าการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ถ้าไม่มีท้องถิ่นที่ผ่านมา รัฐบาลก่อนหน้านั้นก็จะมองแต่การสร้างถนนสายหลักเข้าไปยังจังหวัดเท่านั้นเอง หมู่บ้านต่างๆ ถูกตัดขาดไปหมด" อ.ธำรงศักดิ์ อธิบาย
“มักจะมีคนบอกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น ใครมาก็เหมือนกัน มันไม่เหมือนครับ เพราะถ้าเหมือนกันญี่ปุ่นไม่เจริญทั้งประเทศ เพราะญี่ปุ่นใช้การเลือกตั้งกระจายอำนาจทั้งจังหวัด ทั้งเทศบาลหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะอเมริกาเข้าไปจัดการ ทำให้ญี่ปุ่นตั้งแต่เกาะฮอกไกโดจนกระทั่งถึงนางาซากิ แสงไฟมันสว่างไปหมดเลย ไม่ใช่กระจุกอยู่ที่เมืองหลวงแบบเกาหลีเหนือหรือประเทศไทย”
- ทำไมต้องออกไปเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้?
เมื่อการเลือกตั้งถูกแช่แข็ง 6 ปีเศษ คงทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องออกไปเลือกตั้งครั้งนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สัมภาษณ์ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ถึงประเด็นที่ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้มีความสำคัญอย่างไร และเราสูญเสีย หรือได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากการแช่แข็งที่ผ่านมา
อ.ยุทธพร กล่าวว่า ในวันนี้การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้มีความหมายแค่สรรหาตัวบุคคลที่จะมานั่งในตำแหน่งต่างๆ หรือเป็นเพียงช่องทางในการเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองแต่เพียงเท่านั้น แต่มันคือการเชื่อมต่อในเชิงนโยบายให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางของท้องถิ่นตนเอง หรือแม้กระทั่งการเข้ามาตรวจสอบทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
"เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้จึงมีความสำคัญกว่าในอดีตค่อนข้างเยอะ ในปัจจุบันกระแสเรียกร้องในต่างจังหวัดของตนเองที่ต้องการให้รัฐกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนต่างๆ ก็มีเพิ่มมากขึ้น ในทางกลับกัน การที่เราไม่มีเลือกตั้งท้องถิ่นมา 7-8 ปี คือการทำลายช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน"
ส่วนในทางการบริหาร องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างหมดวาระไปกันหมดแล้วทั้งสิ้น ทำให้คนที่อยู่ในตอนนี้ก็อยู่ในตำแหน่งของการรักษาการ การขับเคลื่อนเดินหน้าทำนโยบายต่างๆ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก สิ่งนี้จึงเป็นปัญหาและเป็นคำตอบว่า ที่ไม่มีเลือกตั้งมา 7-8 ปี ส่งผลกระทบอะไรบ้าง
ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเมืองท้องถิ่นเสมือนแบบฝึกหัดให้กับประชาชนที่จะมีเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง การที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเยอะๆ ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการเลือกตั้งที่เป็นการมีส่วนร่วมที่สำคัญประการหนึ่งในหลากหลายรูปแบบ เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนต้องการอะไร ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร หรือต้องการกำหนดชะตากรรมผ่านนโยบายอย่างไร หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบทางการเมืองกับนักการเมืองเหล่านี้ผ่านกลไกทางการเลือกตั้ง
อ.ยุทธพร ย้ำว่า เพราะฉะนั้นตรงนี้คือความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งหมดทั้งมวลก็คือแบบฝึกหัดของประชาชน และเป็นฐานสำคัญให้การเมืองระดับชาตินั่นเอง
- 10 อบจ. ที่ได้งบประมาณมากที่สุด?
การ "เลือกตั้งอบจ." ครั้งนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" ตรวจสอบข้อมูลตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 7 ต.ค. 2563 มีงบประมาณบริหารจัดการ อบจ. 76 แห่งอยู่ที่ 28,797,844,500 บาท (สองหมื่นแปดพันเจ็ดร้อยเก้าสิบเจ็ดล้านแปดแสนสี่หมื่นสี่พันห้าร้อยบาท) โดย อบจ.ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย
- อบจ.นครราชสีมา 2,303.3 ล้านบาท
- อบจ.ศรีสะเกษ 1,342.1 ล้านบาท
- อบจ.ขอนแก่น 1,044.5 ล้านบาท
- อบจ.อุบลราชธานี 1,016.6 ล้านบาท
- อบจ.ชัยภูมิ 995.5 ล้านบาท
- อบจ.มหาสารคาม 782.1 ล้านบาท
- อบจ.กาฬสินธุ์ 724.4 ล้านบาท
- อบจ.เชียงใหม่ 695.7 ล้านบาท
- อบจ.นนทบุรี 673 ล้านบาท
- อบจ.ร้อยเอ็ด 672.9 ล้านบาท
-----------------------------
ที่มา: พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564