‘เลือกตั้งอบจ.’ ส่องรายได้ 4 ปี กางบัญชีเงินเดือน 'อบจ.'
เปิดตัวเลขรายได้เงินเดือน นายก-สมาชิกสภา “อบจ.” ชุดใหม่ 4 ปี ภายหลังผ่านการ “เลือกตั้งอบจ.” 20 ธ.ค.นี้
หากนับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และส่วนของสมาชิกสภาฯ (ส.อบจ.) ในวันที่ 20 ธ.ค.2563 ถือเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นครั้งแรก ภายหลังผ่านการเลือกตั้งระดับชาติตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.2562 มากว่า 1 ปีกับ 9 เดือน
การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ยังเป็นการปลดล็อคเลือกตั้ง 76 อบจ.เป็นลำดับแรก ก่อนถึงคิวเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 5,300 แห่ง นายกเทศบาลรวม 2,472 แห่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) 1 แห่งและนายกเมืองพัทยา 1 แห่ง รวมทั้งประเทศ 7,850 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะทยอยจัดเลือกตั้งในปี 2564
ทุกการหาเสียงเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้กำหนดกรอบกติกาภายใต้ "พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562" และ "ระเบียบ กตต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2563"
โดยเฉพาะงบประมาณใช้จ่ายหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครแต่ละราย ต้องชี้แจงสรุปบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหลังวันที่ 20 ธ.ค.ภายใน 90 วัน ซึ่งจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทั้ง 76 แห่งได้พิจารณาตามขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้ง สำหรับจังหวัดที่มีจำนวนเงินค่าใช้จ่ายสูงสุดอันดับ 1 ที่ "นครราชสีมา" แบ่งเป็นเงินการเลือกตั้งนายก อบต. 19,000,000 บาท และการเลือกตั้งสมาชิกสภาอบจ. 440,000 บาท
อันดับ 2 อยู่ที่ "อุดรธานี" แบ่งเป็น การเลือกตั้งนายกอบจ. 15,120,000 บาท และการเลือกตั้งสมาชิกสภาอบจ. 380,000 บาท อันดับ 3 "ขอนแก่น" แบ่งเป็นการเลือกตั้งนายก อบจ. 13,500,000 บาท และการเลือกตั้งสมาชิกสภาอบจ. 480,000 บาท อันดับ 4 "กำแพงเพชร" แบ่งเป็นการเลือกตั้งนายก อบจ.13,500,000 บาท และการเลือกตั้งสมาชิกสภาอบจ. 500,000 บาท
ขณะที่จังหวัดที่มีจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งอบจ. น้อยที่สุดอยู่ที่ "สมุทรสงคราม" แบ่งเป็นการเลือกตั้งนายก อบจ. 1,200,000 บาท และการเลือกตั้งสมาชิก สภาอบจ. 200,000 บาท
เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขตามพระราชบัญญัติ(พรบ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในส่วน อบจ.วงเงินงบประมาณอยู่ที่ 28,797.8 ล้านบาท ในกลุ่ม อบจ.ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย
1.อบจ.นครราชสีมา 2,303.3 ล้านบาท
2.อบจ.ศรีสะเกษ 1,342.1 ล้านบาท
3.อบจ.ขอนแก่น 1,044.5 ล้านบาท
4.อบจ.อุบลราชธานี 1,016.6 ล้านบาท
5.อบจ.ชัยภูมิ 995.5 ล้านบาท
6.อบจ.มหาสารคาม 782.1 ล้านบาท
7.อบจ.กาฬสินธุ์ 724.4 ล้านบาท
8.อบจ.เชียงใหม่ 695.7 ล้านบาท
9.อบจ.นนทบุรี 673 ล้านบาท
10.อบจ.ร้อยเอ็ด 672.9 ล้านบาท
ขณะที่ อบจ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย
1.อบจ.ระนอง 103 ล้านบาท
2.อบจ.สิงห์บุรี 118.7 ล้านบาท
3.อบจ.สมุทรสงคราม 120.5 ล้านบาท
4.อบจ.ตราด 137.8 ล้านบาท
5.อบจ.นครนายก 143 ล้านบาท
6.อบจ.อ่างทอง 153.5 ล้านบาท
7.อบจ.พังงา 166.2 ล้านบาท
8.อบจ.สมุทรปราการ 170.3 ล้านบาท
9.อบจ.อุทัยธานี 176.1 ล้านบาท
10.อบจ.สมุทรสาคร 183.5 ล้านบาท
"กรุงเทพธุรกิจ" ยังตรวจสอบไปที่ฐาน "บัญชีอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทน" ของนายก อบจ. 76 แห่ง และสมาชิก อบจ.76 จังหวัดรวม 2,316 คน หลังการเลืองตั้งอบจ. เสร็จสิ้น ซึ่งเมื่อปี 2560 กระทรวงมหาดไทย ได้อนุมัติเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์ให้นายก อบจ.จากเดิม 66,280 บาทปรับขึ้นเป็น 75,530 บาท รองนายกอบจ. จากเดิม 40,450 ปรับขึ้นเป็น 45,540 บาท เลขานุการนายก อบจ. จากเดิม 16,200 บาท ปรับขึ้นเป็น 19,440 บาท
ที่ปรึกษานายก อบจ.จากเดิม 11,570 ปรับขึ้น 13,880 บาท ประธานสภา อบจ. จากเดิม 25,450 บาท ปรับขึ้นเป็น 30,540 บาท รองประธานสภา อบจ. จากเดิม 20,830 บาท ปรับขึ้นเป็น 25,000 บาท และสมาชิกสภา อบจ.จากเดิม 16,200 บาท ปรับขึ้นเป็น 19,440 บาท
หากนำฐานเงินเดือน นายก อบจ. 76 แห่งมาคำนวณ "ค่าตอบแทน" ต่อปีจะใช้งบประมาณต่อคนอยู่ที่ 906,360 บาท หากดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ครบ 4 ปีจะมีงบประมาณอยู่ที่ 3,625,440 และหากนำมารวมค่าตอบแทนนายก อบจ.ทั้ง 76 จังหวัดใน 1 วาระดำรงตำแหน่งตลอด 4 ปีจะมีงบประมาณค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 275,533,440 บาท
ส่วนฐานเงินเดือนสมาชิกสภา อบจ.แต่ละคน จะมีเงินเดือนอยู่ที่ 19,440 บาท หากนำมาคำนวณ "ค่าตอบแทน" ที่ได้ต่อปีอยู่ที่ 233,280 บาท หรือตลอดวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปีอยู่ที่ 933,120 บาท นอกจากนี้หากนำค่าตอบแทนสมาชิก อบจ.76 จังหวัดรวม 2,316 คน มาคำนวณงบประมาณใน 1 วาระดำรงตำแหน่งตลอด 4 ปี จะมีงบประมาณค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 540,276,480 บาท.