สภาฯรับหลักการ ร่างกฎหมายทำแท้ง
สภาฯ รับหลักการ ร่างกฎหมายทำแท้ง อายุครรภ์12สัปดาห์ไม่ผิดกฎหมาย ตั้งกมธ.พิจารณาเนื้อหาแล้ว มีร่างกฎหมายของส.ส.ก้าวไกล ประกบพิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และ ร่างพ .ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่ง คณะของส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ ทั้งนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นำเสนอสาระของร่างกฎหมายตอนหนึ่งว่า ต้องพิจารณาและทำเนื้อหาของร่างกฎหมายซึ่งปรับปรุงแล้ว ให้ทันใช้ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัย
ทั้งนี้ในสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อปรับปรุงเนื้อหาว่าด้วยการทำแท้งลูก ตามมาตรา 301 ว่าด้วยการกำหนดอายุครรภ์สำหรับความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ซึ่งเนื้อหากำหนดว่า กรณีทำแท้งอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทและมาตรา 305 ว่าด้วยเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูก สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา กณีที่จำเป็นเพราะหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงได้รับอันตราย,ทารกเสี่ยงมีความผิดปกติทางกายหรือใจ ขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง, ตั้งครรภ์เพราะการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ และ หญิงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
โดยเหตุผลสำคัญ คือเป็นการแก้ไขกฎหมายตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 วินิจฉัยให้บทบัญญัติของ 2 มาตรานั้นขัดหรือแย้งต่อมมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็ฯการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินความจำเป็น และรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพโดยจัดให้มีมาตรการยุติครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวช่วงท้าย ก่อนการขอมติว่าจะใช้ร่างกฎหมายฉบับใดเป็นหลักนั้น ผู้แทนของส.ส.พรรคก้าวไกล นั้นขอให้สภาฯ พิจารณาให้ใช้ร่างกฎหมายของส.ส. เป็นหลักแทนร่างของรัฐบาล เพราะมีเนื้อหาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาทิ อายุครรภ์, คำเรียกของหญิง ที่เปลี่ยนเป็น บุคคล เพื่อรองรับกรณีที่มีการแปลงเพศ รวมถึงเงื่อนไขของการทำแท้งที่ได้รับการยกเว้นไม่ผิดกฎหมาย ทำให้ที่ประชุมต้องใช้การลงมติตัดสิน ทั้งนี้ผลการลงมติ ปรากฎว่า เสียงข้างมากให้ใช้ร่างพ.ร.บ.ของรัฐบาลเป็นหลัก.