'วิษณุ' ชี้ ขยับเลือกตั้ง 'นายกเทศมนตรี' ได้ หาก 'โควิด' ไม่ซา
'วิษณุ' เผย เลขาฯกกต. ระบุ จัดกเลือกตั้ง'นายกเทศมนตรี' 21 มี.ค.ได้ หากสถานการณ์ 'โควิด-19'ยังอยู่ในระดับปัจจุบัน ย้ำต้องเว้นระยะห่างให้ดี ห่วงประชาชนใช้สิทธิ์น้อย
14 ม.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี หากมีสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จะสามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้หรือไม่ ว่า หากจะเลื่อนก็สามารถทำได้เพราะกฎหมายให้อำนาจไว้ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ต้องระบุให้ชัดเจน ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ต้องเอาคนทั้งประเทศมารวม สมมติว่าจังหวัดราชบุรีเกิดปัญหาน้ำท่วมแล้วเลือกตั้งไม่ได้ ก็เลื่อนออกไปก่อนแล้วค่อยเลือกใหม่เพราะไม่ต้องนำผลคะแนนของจังหวัดนี้ไปเปรียบกับอีกจังหวัดหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากจะต้องเลื่อนจะให้เอกสิทธิ์กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)แต่ละพื้นที่พิจารณาเลื่อนได้เลยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ หรือถ้ามีการแพร่ระบาดทั้งประเทศโดยไม่ได้เจาะจงพื้นที่ใดก็เลื่อนได้ และถ้าเลื่อนต้องจะต้องระบุว่าจะเลื่อนไปถึงเมื่อใด ไม่ใช่เลื่อนไม่มีกำหนด ซึ่งกกต.จังหวัดจะเป็นคนพิจารณาว่าจะกำหนดวันใด
เมื่อถามว่ามีเรื่องใดที่กังวลว่าจะทำให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป นายวิษณุกล่าวว่า ในที่ประชุมครม.เลขาฯกกต.ชี้แจงว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นเหมือนปัจจุบันก็สามารถจัดการเลือกตั้งในวันที่ 21 มี.ค.เพราะมีประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)มาแล้ว โดยต้องเว้นระยะห่างให้ดี และสิ่งที่กังวลคือห่วงว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์น้อย
เมื่อถามว่าการระบาดรอบใหม่ไม่เหมือนกับครั้งที่ผ่านมา จะต้องยกระดับมาตรการควบคุมขึ้นหรือไม่ นายวิษณุ การเลือกอบจ.ที่ผ่านมา ก็อยู่ในช่วงของระบาดรอบใหม่ และเพิ่มมาตรการจากที่ตั้งเต็นท์เดี่ยวก็ให้แยกเป็นสองเต็นท์เว้นระยะห่างมากขึ้น แต่ต้องลงทุนมากขึ้น เมื่อถามย้ำว่าไม่มีเรื่องอื่นที่ต้องห่วงนอกจากคนออกมาใช้สิทธิ์น้อยใช่หรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า ไม่ห่วง และสามารถจัดเลือกตั้งได้
เมื่อถามว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในรอบใหม่ยังอยู่ในระยะที่หนึ่งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ยังมีอำนาจ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตอนนี้มีการประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาและยังไม่จำเป็นที่นายกฯจะต้องลงไปสั่งการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด สามารถประเมินสถานการณ์และออกข้อกำหนดของตัวเองได้
โดยที่ส่วนกลางจะออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไว้เพื่อคุมการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่เท่านั้น และการออกข้อกำหนดของแต่ละจังหวัดเองก็มีข้อเสียเพราะมาตรฐานที่ออกมาจะไม่เหมือนกัน และแพทย์ก็ไม่สบายใจ แต่ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศเนื่องจากมีการแบ่งประเภทพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด5จังหวัดกับพื้นที่ควบคุมสูงสุด เวลานี้ยังสามารถควบคุมดูแลโดยศบค.ชุดเล็ก ที่มีหมอร่วมในคณะกรรมการประเมินสถานการณ์อยู่ทุกอาทิตย์ โดยรับฟังข้อกังวลของหมอมาประกอบการพิจารณาด้วยเนื่องจากเกรงว่าการควบคุมจะเป็นคนละมาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา จังหวัดไหนที่ปัญหาน้อยก็เข้มน้อย และเวลานี้เราต้องเพ่งมาตรการไปที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงแล้วก็ จะใช้เป็นสมุทรสาครโมเดลไปดำเนินการกับจังหวัดอื่นๆต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะพิจารณามาตรการเคอร์ฟิวหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เวลานี้ยังไม่มีการพูดถึงหรือมีข้อเสนอขณะ เวลานี้เพื่อนบ้านหลายประเทศมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับประเทศไทยเมื่อถึงเวลาหากจะต้องประกาศจะต้องรายงานให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศบค. รับทราบจากนั้นแต่ละจังหวัดจึงจะไปพิจารณาประกาศในจังหวัดของตัวเอง