สกัดโพลล์ยกเลิก 'ม.112' เดิมพัน ‘ประยุทธ์ -ธนาธร’
ไม่ว่าจะเป็น ‘ธนาธร’ หรือ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ต่างก็มีเดิมพันกันด้วยชีวิตและอนาคตการเมือง เพราะหาก ‘ม.112 ’ยังอยู่ นั่นหมายความว่าจะมีคน ‘ติดคุก’ แต่หากประเทศไทยไม่มี ‘ม.112’ ก็จะไม่มี นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เช่นกัน
งานนี้ยังดูไม่ออกระหว่าง ผู้นำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ประธานคณะก้าวหน้า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าใครจะเพลี่ยงพล้ำกว่ากัน กับกรณีวัคซีน ‘พระราชทาน’ ที่ดูเหมือนต่างฝ่ายต่างสมประโยชน์ในสิ่งที่ต้องการ
กับเดิมพันที่สูงลิ่วของ ‘ธนาธร’ ที่ลงทุนใช้ตัวเองเป็น ‘เหยื่อ’ หลังออกมาไลฟ์สดผ่านเพจคณะก้าวหน้าและสำนักข่าว BBC Thai ในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทานฯ : ใครได้-ใครเสีย?” ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน‘พระมหากษัตริย์’ โจ่งแจ้ง กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันขรม
โดยเนื้อหาสรุปได้ว่า ด้วยการจัดหาและผลิตวัคซีน ‘โควิด-19’ในประเทศไทย ที่ ‘ธนาธร’ ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งจนเป็นสาเหตุทำให้ได้วัคซีนล่าช้าและไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรที่เหมาะสม
วัคซีน ‘พระราชทาน’ ก็ไม่ทำให้ ‘ธนาธร’ ผิดหวังเมื่อ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ตะครุบ ‘เหยื่อ’เข้าอย่างจัง‘ ไฟเขียว’ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)แจ้งความดำเนินคดี ‘ม.112’ ความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเสร็จราชการแทนพระองค์
และกระทำการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14
ส่งผลให้ ‘ธนาธร’ ได้ไปต่อกับการเดินเกมยกเลิก ‘ม.112’ หลังกระโจนเข้าไปติด ‘กับดัก’เสียเอง หวังสะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชนและคนไทยอีกหลายคน เพื่อนำไปขยายผลให้เกิดกระแสกดดันมาจาก ‘สังคมโลก’
เพราะขณะนี้จะเห็นได้ว่าองค์กรระหว่างประเทศ อย่าง ‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’ เริ่มขยับ หลังออกแถลงการณ์คัดค้านใช้ ‘ม.112 ’ลงโทษผู้กระทำความผิด และเรียกร้องให้ รัฐบาลยกเลิกหรือแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายที่จำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ทั้งในชีวิตจริงและในพื้นที่ออนไลน์ รวมทั้งความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
สอดคล้องกับความเคลื่อนไหว“ม็อบบนถนน” ด้วยการโชว์ประเด็นหลักคือยกเลิก ‘ม. 112’ ผ่านกิจกรรมแปะแผ่นป้ายตามสถานที่ต่างๆ และถ่ายภาพโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย หรือการนำธงชาติลงจากยอดเสาและใช้ผ้าสีแดงเขียนตัวเลข ‘112 ’ไปแทนที่
ถือเป็นการทำงานสอดประสานเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อม ให้สอดรับกับการเดินเกมใน ‘รัฐสภา’ ของฝ่ายการเมืองเพื่อยกเลิก‘ ม.112’ ที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เคาะวันที่ 24 -25 ก.พ. 2564 ประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 2 และการพิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ในวันที่ 17 - 18 มี.ค. 2564 พร้อมกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระที่ 2-3
แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ถึงกับเสียท่า เพราะเจตนาลึกๆ ก็ต้องการกระชากคนที่อยู่เบื้องหลัง ที่ชักใย ‘ม็อบ’ในช่วงที่ผ่านมา เพราะเชื่อมั่นมาตลอดว่าคนๆ นั้นคือ ‘ธนาธร’ มาดำเนินคดีชนิดที่เรียกว่า ‘ขุดรากถอนโคน’ มากกว่าไปไล่จับปลาซิวปลาสร้อย ที่เป็นเยาวชนให้โดนข้อครหา
“ผมถือว่าเป็นการบิดเบือนทุกเรื่อง ทุกอย่าง ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ขอให้ทุกคนระมัดระวังในการเสนอข่าว เรื่องใดก็ตามที่บิดเบือน ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แล้วนำมาแพร่ในสื่อ ในโซเชียลฯ ผมให้มีการดำเนินคดีทุกรายการ ทุกเรื่องจึงขอให้ทุกคนระมัดระวังด้วย อย่าหาว่าเอากฎหมายมาขู่ ผมต้องรักษาความเชื่อมั่นของรัฐบาล” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
นอกจากนี้ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ยังพบความเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่มที่กำลังทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับยกเลิก ‘ม.112 ’ ผ่านโซเชียลมีเดีย และสั่งการให้หน่วยงานความมั่นคง ‘แกะรอย’ นำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีเช่นกัน
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น ‘ธนาธร’ หรือ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ต่างก็มีเดิมพันกันด้วยชีวิตและอนาคตการเมือง เพราะหาก ‘ม.112 ’ยังอยู่ นั่นหมายความว่าจะมีคน ‘ติดคุก’ แต่หากประเทศไทยไม่มี ‘ม.112’ ก็จะไม่มี นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เช่นกัน