จักรวาลภาพยนตร์ 'มาร์เวล' เสรีนิยมใหม่-อนุรักษนิยม
เปิดบทวิเคราะห์ “จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล” (MCU) ในมุมมองโครงการทางการเมือง ที่มีความเกี่ยวพันกับเสรีนิยมใหม่และอนุรักษนิยม
เมื่อพูดถึงซูเปอร์ฮีโร่แห่งยุคสมัย คงไม่มีใครไม่รู้จักภาพยนตร์ชุดจากสตูดิโอมาร์เวล ซึ่งโด่งดังและน่าจะเป็นภาพยนตร์ชุดที่มีอิทธิพลต่อคนทั่วโลกมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เรื่องราวถูกร้อยเรียงกันเป็นจักรวาลอันยิ่งใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อ “จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล” (MCU) จนถึงปัจจุบันก็นับเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว
แน่นอนว่าความบันเทิงย่อมถือเป็นสาระหลักของ MCU แต่วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตร์การเมืองจากจุฬาฯ ของ กวิสรา ผันนภานุกุล ได้ชี้ให้เห็นถึง MCU ในฐานะที่เป็นโครงการทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับเสรีนิยมใหม่และอนุรักษนิยมได้ด้วย
จุดเริ่มต้นของความเกี่ยวพันนี้คงต้องเริ่มที่ Iron Man ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล เริ่มออกฉายครั้งแรกในปี 2551 ซึ่งเป็นเวลา 7 ปีหลังจากเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน และหลังจากเวลาหลายปีที่สหรัฐทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบในอัฟกานิสถานและอิรัก
ในช่วงเวลานั้นหลายฝ่ายได้ตั้งคำถามกับบทบาทของสหรัฐในการเข้าไปยึดครองพื้นที่ โดยกล่าวว่าเป็นการปราบปรามผู้ก่อการร้ายมากขึ้น ซึ่งบริบทดังกล่าวก็เป็นจุดเปลี่ยนของตัวละครโดยสะท้อนผ่านทัศนคติของตัวละครโทนี่ สตาร์ค และบทบาทของสตาร์ค อินดัสทรี ที่ต่างจากจุดเริ่มต้นอย่างสิ้นเชิง
ที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ โทนี่เริ่มตั้งคำถามต่อสิ่งที่ตนเองทำและสิ่งที่เกิดขึ้นในสงคราม ทำให้เขาตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตที่แตกต่างออกไป โดยคิดว่าเขาจะตีตัวออกห่างจากรัฐบาลและใช้เทคโนโลยีและความมั่งคั่งที่มีเพื่อสันติภาพโดยการเป็นซูเปอร์ฮีโร่แทน
ครั้งหนึ่งโทนี่ สตาร์ค กล่าวว่า “ผมแปรรูปสันติภาพโลก (ให้เป็นเอกชน) แล้ว คุณยังต้องการอะไรอีก?” พร้อมกับปฏิเสธที่จะไม่ให้เทคโนโลยีของบริษัทกับรัฐบาลเพราะเชื่อว่าเขาสามารถสร้างสันติภาพโลกได้มากกว่ารัฐบาล และยังได้ใช้ตึกซึ่งเขาเป็นเจ้าของในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และใช้เป็นศูนย์กลางในการรวมทีมซูเปอร์ฮีโร่อย่าง ดิ อเวนเจอร์ส อีกด้วย
นอกจากนั้น เราจะเห็นว่าในการต่อสู้กับวายร้ายจากนอกโลก รัฐบาลก็ไม่ได้มีบทบาทมากนักในการจัดการกับศึกครั้งนี้ เรายังเห็นว่าเหล่าตัวละครยังต้องจัดการกับการตัดสินใจที่ผิดพลาดจากทางรัฐ และสุดท้ายซูเปอร์ฮีโร่ซึ่งเป็นเอกชนก็สามารถแก้ปัญหานั้นได้สำเร็จและกอบกู้โลกได้ในที่สุดอีกด้วย
ตรงนี้สะท้อนพลังของคุณค่าแห่งเสรีนิยมใหม่ที่ปรากฏในภาพยนตร์ ผ่านภาพปัจเจกบุคคลแห่ง Iron Man ที่ฝ่าฟันอุปสรรคจนสามารถสะสมทุนจนร่ำรวย และใช้ประโยชน์จากทุนนั้นพัฒนาเทคโนโลยีจนกลายเป็นผู้นำด้านยุทโธปกรณ์ และใช้การนั้นเพื่อรักษาสันติภาพของโลกไว้ได้
ภาพที่เห็นเหมือนกับว่า Iron Man มีโครงการทางการเมืองที่สอดคล้องกับเสรีนิยมใหม่ที่ชูเสรีภาพแห่งเอกชน แต่มันหาเป็นเช่นนั้นไม่ โดยในภาพยนตร์ชุด The Avengers กับกลายเป็นว่า Iron Man กลายเป็นตัวแทนแห่งทุนที่ยึดมั่นในอำนาจและกฎเกณฑ์แห่งรัฐในการกำจัดฮีโร่ที่ไม่เข้าพวกเพื่อรักษาสันติภาพตามความหมายที่รัฐวางกรอบไว้ ส่วนกัปตันอเมริกาผู้ตั้งคำถามต้องเสรีภาพของปัจเจกและอำนาจของรัฐ แต่ปราศจากซึ่งพลังแห่งทุน กลายเป็นอยู่ในฝ่ายที่ตกเป็นเบี้ยล่าง
สิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์นี้มิต่างจากโลกที่แท้จริงที่กลไกของเสรีนิยมใหม่ไม่ได้ทำงานด้วยภาคเอกชนอย่างเดียว หากแต่ควบคู่ไปกับพลังอำนาจของรัฐด้วย ซึ่งอำนาจแห่งรัฐนี่แหละที่เป็นตัวกำหนดขอบเขตว่า กิจกรรมใดเป็นสิ่งที่ “ดี” หรือ “ทำได้” ดังนั้น การกอบกู้โลกของเหล่า The Avengers จึงไม่ใช่ภารกิจแห่งความดี เพราะหลายครั้งระดับและขนาดการต่อสู้นี้เกินกว่ารัฐ-ชาติใดจะควบคุมได้
ผู้มีพลังพิเศษในสายตาของรัฐจึงเป็น “ผู้ละเมิดอำนาจอธิปไตย” อย่างสม่ำเสมอ ฉะนั้น ภาพยนตร์เหมือนกำลังบอกเราอยู่ว่ามันคงเป็นการยากที่จะหนีทางสองแพร่ง (dilemma) นี้ไปได้ มันเป็นไปได้เสมอที่การทำดีอาจไปละเมิดอธิปไตยของใครเข้า หรือถ้าอยากจะรักอธิปไตยแห่งรัฐมันก็ตามมาด้วยความเสี่ยงภัยต่อมนุษยชาติ
เอาเข้าจริงแล้ว แม้รัฐเกือบทั้งหมดในโลกนี้จะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติหรือต้องประสบกับปัญหาทั้งในระดับโครงสร้างและระดับปัจเจก เราก็มักได้ยินคำพูดของผู้นำประเทศในทำนองว่า “วิกฤติของทุนนิยมเสรีเป็นเหตุแห่งหายนะ” ซึ่งดูเหมือนเป็นการชี้เป้าตัวผู้ร้ายไปที่เสรีภาพอันล้นเกินของปัจเจกบุคคล (ที่เสรีนิยมใหม่เชิดชูมาโดยตลอด)
ถ้าลองยกตัวอย่างในประเทศไทย เราก็อาจได้ยินคำสั่งสอนให้เกิดการผลิตและบริโภคอย่างมีคุณธรรมอยู่บ่อยๆ หรือบางครั้งรัฐเองก็ได้พยายามนำเสนอภาพของภัยคุกคามต่างๆ ที่มาพร้อมกับทุนนิยมเสรี ไม่ว่าจะเป็น ภัยคุกคามภายในหรือภายนอกประเทศ ทั้งภัยที่เป็นความจริงและจินตนาการขึ้นมา จึงเน้นการสร้างความเข้มแข็งของกองทัพและสร้างความหวาดกลัวภัยคุกคามต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของชาติ
ในทำนองเดียวกัน เราก็เห็นภัยคุกคามเพิ่มมากขึ้นใน MCU ที่นำมาสู่ข้อเสนอการควบคุมผ่านกลไกรัฐผ่านสนธิสัญญาโซโคเวีย เราเห็นความขัดแย้งซึ่งกลายเป็นสงครามอันใหญ่หลวงซึ่งมีสาเหตุมาจากความอดอยากของประชาชนบนดาวไททัน ซึ่งภาพยนตร์ก็เสนอการเปลี่ยนผ่านสังคมแบบเสรีนิยมที่เน้นความสันติและศีลธรรมเป็นหลัก โดยแม้ว่าซูเปอร์ฮีโร่จะเป็นฝ่ายชนะจากการฆ่าประชากรไปกว่าครึ่งจักรวาลเสียเอง แต่ก็แทบจะไม่ได้พูดถึงการแก้ปัญหาทรัพยากรขาดแคลนใดๆ แต่ให้เหตุผลในทำนองว่านี่คือสิ่งที่ “ถูกต้อง” เสมือนว่าเป็น “ความจริง” หนึ่งเดียว
เหตุผลเหล่านี้คือวิธีการของอนุรักษนิยมใหม่ ที่เสนอการควบคุมผ่านกลไกรัฐ ซึ่งเป็นแนวคิดที่แม้จะขัดแย้งในระดับพื้นฐานกับเสรีนิยมใหม่ แต่ก็พร้อมที่เดินทางร่วมไปกับเสรีนิยมใหม่อย่างแนบแน่นภายใต้กรอบของทุนนิยม
ในทัศนะของเดวิด ฮาร์วีย์ นี่คือวิธีที่จะนำเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ต้องการการฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นนำขึ้นมาตามโครงการทางเมือง (Political Project) ของเสรีนิยมใหม่เอง และดูเหมือนว่าจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวลก็จะยังคงดำเนินต่อไปภายใต้ความขัดแย้งและทางออกอันแสนย้อนแย้งนี้
เมื่อโครงการทางการเมืองในลักษณะนี้ยังดำเนินต่อไปโดยไร้ข้อกังขา มนุษย์เองก็อาจใฝ่ฝันถึงทางเลือกอื่นได้ยากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงไม่สามารถจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ได้อีกเลย
หากเป็นเช่นนั้นเราอาจจะต้องเสี่ยงดวงเอาเอง ว่าชาติหน้าจะได้เกิดบนดาวไททัน หรือได้เกิดเป็นซูเปอร์ฮีโร่