นับหนึ่งสมานฉันท์"บนดิน-ใต้ดิน" เดินหน้าดูด“ฝ่ายค้าน-ฝ่ายม็อบ”
แม้ การสร้างความปรองดอง ตามที่กรรมการสมานฉันท์ วางกรอบไว้ จะไร้ธงนำ และมีเพียง การดึงความร่วมมือจากทุกฝ่าย ร่วมวง สิ่งที่ถูกคาดหมายและตั้งเป้า ตอนนี้ต้องเริ่มนับหนึ่งให้ได้ จากการ "ดีล" คู่ขัดแย้งร่วมวง
กรรมการสมานฉันท์ที่มี เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.อาวุโส จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานกรรมการ เคาะกรอบการทำงานและวิธีทำงานภายใต้รูปแบบการสานสนทนา-เสวนา เพื่อรับข้อเสนอที่ปูทางไปสู่ “แนวทางการความสมานฉันท์ในสังคมไทยอย่างยั่งยืน”
แน่นอนทิศทางการทำงาน อาจถูกมองว่าเป็นรูปแบบเดิมๆ ที่เคยเกิดมาแล้วในทุกยุคทุกสมัย ที่ไม่สร้างความเซอร์ไพรส์ ให้กับคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวเท่าใดนัก
และเมื่อรับทราบถึงแนวทางที่เป็นความพยายามอีกครั้งของกรรมการฯ ต่อการดึงคู่ขัดแย้ง ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ทั้งกลุ่มการเมืองนอกสภาฯ และกลุ่มการเมืองในสภาฯ คือการหาช่องทางเข้าไปพูดคุย อาจรู้สึกว่าความหวังอันน้อยนิดของ “การปรองดอง" ดับพรึ่บ
ความพยายามหาช่องเพื่อพูดคุยนั้น “นพ.วันชัย วัฒนศัพท์" กรรมการสมานฉันท์ ฐานะผู้มากประสบการณ์ด้านการสร้างกระบวนการให้เกิดความปรองดอง บอกว่าเป็นสูตรสำเร็จที่เคยทำแล้วได้ผล ทั้งการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง เสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่สิ่งที่ต้องทำก่อนถึง “การจับเข่านั่งคุย” คือการได้ “คนมือถึง” เปิดดีลประสาน
เพราะต้องยอมรับว่า “กรรมการสมานฉันท์” โดยการแต่งตั้งของ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นั้น ถูกปรามาสว่าเป็น คณะทำงานที่อิงฝั่งรัฐบาลและมีสถานะเป็น "ไม้ค้ำยัน” ความชอบธรรม บนความไม่ชอบธรรมในมุมมองของคู่ขัดแย้งของรัฐบาล แต่จนถึงนาทีนี้ “คนมือถึง” ที่ว่า กรรมการสมานฉันท์ยังหาไม่ได้ และอาจเป็นแก้โจทย์ความขัดแย้งที่เจอปมยากตั้งแต่เริ่มต้น
และปฏิเสธไม่ได้ว่า ปมยากเงื่อนแรกนั้น ย่อมส่งผลถึงการหาช่องทางเพื่อดึงคู่ขัดแย้ง โดยเฉพาะผู้ชุมนุมเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย
ประเด็นนี้ “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หรืออีกฐานะคือคนรุ่นใหม่อันดับต้นๆ ที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้านการกระทำที่ไม่ชอบธรรมของ "รัฐบาลทหาร” ให้มุมมองว่า “ความพยายามของกรรมการปรองดอง ไม่มีทางที่นำไปสู่ความสมานฉันท์ได้ เนื่องจากคุณเป็นเสือกระดาษ และไม่มีน้ำยา”
ในมุมสมานฉันท์ที่ไร้น้ำยา ตามที่ “รังสิมันต์” มอง เพราะสิ่งที่เป็นปลายทาง คือการทำข้อเสนอส่งไปยังรัฐบาล ดังนั้นสิ่งที่ รัฐบาลพึงทำมากกว่า มีกรรมการทำงานคือ "การรับฟังข้อเสนอและตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมบอกให้ชัดเจนในประเด็นข้อเรียกร้องว่า ประเด็นไหนทำได้ หรือทำไม่ได้ หรือประเด็นไหนต้องศึกษา แต่หากไม่ยอมรับฟังข้อเรียกร้องใดๆ แต่ใช้การจับกุมเยาวชนที่เคลื่อนไหว ต่อให้มี รังสิมันต์ 100 คนก็ไม่พอที่จะไปเจรจาสร้างความเข้าใจได้”
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า หากไม่มีคู่ขัดแย้งร่วมวง หรือให้ความเห็นย่อมส่งผลให้งานสมานฉันท์ ยากจะเกิดขึ้นจริง หรือแม้จะเกิดเป็นข้อเสนอขึ้นมาได้ สิ่งที่ต้องส่งต่อคือให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เมื่อการตั้งต้นของกรรมการสมานฉันท์นั้นเกิดจากปมขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กับกลุ่มม็อบเยาวชน
ข้อเสนอนั้นต้องถูกส่งผ่านไปยัง “รัฐบาล” งานยากที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ จะใช้วิธีใดบังคับให้รัฐบาลทำตามข้อเสนอ และยิ่งข้อเสนอที่จะเกิดขึ้นไม่สมกับประโยชน์ของผู้มีอำนาจแล้ว แผนปรองดอง สมานฉันท์ คงถูกจับขึ้นหิ้ง ไม่ต่างกับรายงานปรองดองสมานฉันท์ หลายฉบับของกรรมการที่ตั้งขึ้นมาหลายคณะก่อนหน้านั้น
ดังนั้นในความพยายามของ “กรรมการสมานฉันท์” ที่กำลังตั้งต้นหาช่องทางคุยกับคู่ขัดแย้งรัฐบาล แม้ “นพ.วันชัย” บอกว่าไร้ธงนำ หรือการต่อรอง แต่ต้องยอมรับว่าในช่องทางที่ดูเหมือนง่ายนั้น ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด แถมดูเหมือนจะเป็นงานยากที่ยิ่งกว่า เข็นครกขึ้นภูเขาเสียอีก
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดจำนวนกรรมการสมานฉันท์ได้เพิ่มขึ้นจาก 11 คนเป็น 15 คน จากการคัดเลือก 4 ผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาเติม ประกอบด้วย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ภูมิ มูลศิลป์ ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดี ด้านวิชาการและการเชื่อมโยงกับสังคม จุฬาฯ
แม้จะเป็นเรื่องยากและท้าทาย แต่ในวงคณะกรรมการสมานฉันท์ที่มีอยู่ในเวลานี้ กำลังพยายามเดินเกมทั้งบนดินใต้ดินเพื่อดึงฝ่ายค้าน และตัวแทนผู้ชุมนุม เข้ามาร่วมวงให้ได้ ไม่เช่นนั้นพวกเขาก็ยอมรับว่า ยังนับ 1 ไม่ได้.