ในอุ้งมือมังกร ซูจี-มินอ่องหล่าย
ตลอด 5 ปีในอำนาจของรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดี “ซูจี” กับ “มินอ่องหล่าย” เหมือนเอกภาพของด้านตรงข้ามคือ ทั้งสามัคคีกัน และสู้รบกัน
การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมา เมื่อ 8 พ.ย.2563 นักวิเคราะห์ฝั่งตะวันตกประเมินว่า ความนิยมของอองซานซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) คะแนนนิยมจะลดลง โอกาสที่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) และพรรคการเมืองเกิดใหม่ จะสามารถแย่งที่นั่งไปครองได้มากขึ้น
สืบเนื่องจากภาพลักษณ์ของ “ซูจี” ตกต่ำในสายตาฝั่งประชาธิปไตย ทั้งกรณีปล่อยกองทัพเข่นฆ่าชาวโรฮิงญา และไม่จริงจังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2551 เพื่อลดอำนาจกองทัพเมียนมา
“ซูจี” เดินหน้าให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง ท่ามกลางสถานการณ์โควิดระบาดในเมียนมา มีข้อจำกัดในการหาเสียง จัดการปราศรัย และขบวนแห่ แต่พลพรรคของ “ซูจี” มีความชำนาญในการใช้สื่อโซเชียลหาเสียง
ด้านหนึ่ง ต้องยอมรับว่า กรณี “ซูจี” ยอมเดินทางไปขึ้นศาลโลก ในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา เรียกคะแนนสงสารจากชาวเมียนมาได้ไม่น้อย และต้องยอมรับว่า กรณีโรฮิงญาในสายตาชาวเมียนมากับชาวโลก มองซูจีต่างกัน
ปัจจัยภายในเหล่านี้ ทำให้พรรคเอ็นแอลดีได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ท่ามกลางข้อกังขาในการควบคุมการเลือกตั้งของ กกต. มิเพียงพรรคยูเอสดีพี ที่สนับสนุนฝั่งทหาร พรรคการเมืองอื่นๆ ก็ไม่พอใจในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ที่คล้ายจะเอื้อต่อพรรคเอ็นแอลดี
ฝ่ายกองทัพแสดงปฏิริยาคัดค้านผลการเลือกตั้ง เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้ง และเลื่อนวันเปิดประชุมสภาฯ ออกไป แต่ทุกข้อเสนอได้รับการปฏิเสธจาก “ซูจี” ทั้งหมด
ฉะนั้น ก่อนถึงเวลาเปิดประชุมสภาฯ 1 ก.พ.2564 กองทัพเมียนมา ได้เข้าจับกุมซูจี และประธานาธิบดี และอาศัยมาตรา 417 รัฐธรรมนูญ ปี 2551 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี ซึ่งเป็นการทำรัฐประหารใต้รัฐธรรมนูญครั้งแรกของโลก
ถัดมา กองทัพเมียนมาประกาศการจัดตั้ง “สภาบริหารแห่งรัฐ” (State Administration Council-SAC) ตามมาตรา 419 ซึ่งองค์กรนี้จะมีบทบาทไม่ต่างจากสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (SLORC) หรือ สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC)
แสดงว่า ขุนศึกเมียนมาวางหมากวางเกมไว้เสร็จสรรพ จึงเขียนรัฐธรรมนูญ ปี 2551 ให้มีหมวดว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ถึง 23 มาตรา แถมให้ ผบ.สส.ใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ได้โดยอัตโนมัติ
การทำรัฐประหารนำประเทศเมียนมา กลับสู่ยุคเผด็จการ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.สส.รู้ดีว่า ต้องเผชิญแรงกดดันจากตะวันตกมากน้อยเพียงใด
มีข้อน่าสังเกตจากนักเชี่ยวชาญการเมืองฝั่งเมียนมาว่า จีนรับรู้มาก่อนว่าต้องเกิดการยึดอำนาจในเมียนมา เนื่องจากวันที่ 11-12 มกราคม 2564 หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
วันที่ 11 ม.ค.2564 หวังอี้ รมต.ต่างประเทศจีน ได้พบกับ อูวินมิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา(เวลานั้น) พร้อมอองซานซูจี และวันที่ 12 ม.ค.2564 หวังอี้ ได้พบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.สส.
ดังที่รู้กัน จีนเป็นพี่เลี้ยงให้ทั้งอองซานซูจี และพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย รวมไปถึงบรรดา “ขาใหญ่” กองกำลังชาติพันธุ์ในภาคเหนือก็พึ่งพาจีน ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนจีนได้ยาตราทัพการลงทุนเข้ามาในเมียนมาจนเกือบเต็มพื้นที่
แม้ชั่วโมงนี้ คลื่นอารยะขัดขืนจะเริ่มก่อหวอดในหัวเมืองใหญ่ๆ แต่น้ำเสียงของซูจี ที่ส่งสัญญาณมาถึงสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี ก็ยังไม่ดุดัน เหมือนสมัยสู้เผด็จการทหารยุคสงครามเย็น
ตลอด 5 ปีในอำนาจของรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดี “ซูจี” กับ “มินอ่องหล่าย” เหมือนเอกภาพของด้านตรงข้ามคือ ทั้งสามัคคีกัน และสู้รบกัน
ด้วยเหตุนี้ จีนจึงมองการยึดอำนาจในเมียนมา เป็นแค่การปรับคณะรัฐมนตรี เปลี่ยนเวทีกันเล่นชั่วคราว