ตอกลิ่มรัฐบาล-กู้ชื่อฝ่ายค้าน เดิมพันบนสังเวียนสภาฯ
เมื่อฝั่งหนึ่งกำลังเผชิญทั้ง"ศึกใน" และ "ศึกนอก" ขณะที่อีกฝั่งมีเดิมพันคือการลบคำครหา “มวยล้ม-ข้อสอบรั่ว” ศึกซักฟอกบนสังเวียนสภาฯ รอบนี้ทั้ง2ฝ่ายจึงมีเดิมพันสูงไม่แพ้กัน
ถือเป็น “ศึกใหญ่” ทิ้งทวนก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือ “ศึกซักฟอก” ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.นี้
ศึกรอบนี้ “7 พรรคฝ่ายค้าน” จัดทีม 38 ขุนพล แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 15 คน พรรคก้าวไกล 13 คน พรรคเสรีรวมไทย 5 คน พรรคประชาชาติ 1 คน พรรคเพื่อชาติ 1 คน พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน และพรรคไทยศรีวิไลย์ 1 คน
ล็อกเป้าไปที่ 3 กลุ่ม “10 รัฐมนตรี” กลุ่มแรกเป็น “พี่น้อง 3 ป” ทั้ง ป.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ป.ป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ ป.ป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
กลุ่มสอง 3 รัฐมนตรีพลังประชารัฐ ทั้ง สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์
และกลุ่มสาม 4 รัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล จากภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และประชาธิปัตย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย
หากจำแนกแยกแยะข้อกล่าวหา ที่ฝ่ายค้านเตรียมงัดมาถล่มรัฐบาลกลางสังเวียนสภาผู้แทนราษฎร จะเห็นการขมวดปมปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว การทุจริตต่อหน้าที่ และการเอื้อประโยชน์พวกพ้อง กลุ่มทุนและเจ้าสัวบางกลุ่ม โดยเฉพาะในห้วงที่ไทยกำลังเผชิญภัยคุกคามจากโรคโควิด-19 ที่เวลานี้เกิด “ซูเปอร์สเปรดเดอร์”ลูกใหม่ จนตัวเลขไต่ขึ้นไปอยู่ที่ 3 หลัก
ท่าที “พล.อ.ประยุทธ์” ดูเหมือนจะรู้เกมนี้ดี จึงสั่งตั้งรับวอร์รูมนอกสภา และให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงเตรียมข้อมูลชี้แจงฝ่ายค้านให้ครบทุกประเด็น โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณที่ฝั่งรัฐบาล “เก็งข้อสอบ” ล่วงหน้าว่า ฝ่ายค้านเตรียมจะถล่มเรื่องการใช้เงินในภารกิจแก้ปัญหาโควิด-19 อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ฝ่ายรัฐบาลยังมี “ดาบสอง” ทั้งการยื่นตีความในประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอ โดยเฉพาะประเด็นที่อาจไปกระทบสถาบันหลักของชาติ การสั่งทีมวอร์รูมมอนิเตอร์เกาะติด และหาช่องในการเอาผิดฝ่ายค้านตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากท้ายที่สุดฝ่ายค้านยืนยันที่จะแก้ญัตติในประเด็นดังกล่าว ก็ให้เป็นอำนาจของประธานและรองประธานสภาในการทำหน้าที่ควบคุมการประชุม
หากแผนหนึ่ง แผนสอง ไม่ได้ผล จนนำไปสู่สถานการณ์เพลี่ยงพล้ำ รัฐบาลก็ยังมีอีกหนึ่งไม้ตาย นั่นคือ การใช้เสียงข้างมากขอมติจากที่ประชุมใช้อำนาจประธานสั่งปิดการประชุม
ทว่าการที่ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงข้างมากอยู่ในมือ ก็ใช่ว่าจะได้เปรียบทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะอย่างที่รู้กันว่า เวลานี้รัฐบาลเอง อาจต้องตั้งรับถึง 2 ทาง เพราะนอกจากตั้งรับศึกที่มาจากฝ่ายค้าน ก็ยังเผชิญ “คลื่นใต้น้ำ” ในขั้วเดียวกัน
ทั้งกรณีที่ ส.ส.พลังประชารัฐ ตั้งคำถามไปยังกรรมการบริหารพรรคถึงการโหวต “ไม่ไว้วางใจ” รัฐมนตรีบางคน หรือกรณีล่าสุดคือ “ศึกเมืองคอน” ที่เวลานี้กลายเป็นสมรภูมิเดือดระหว่าง“พลังประชารัฐ” และ “ประชาธิปัตย์” ที่ถึงขั้นขู่โหวต “ไม่ไว้วางใจรัฐบาล” รัฐมนตรีบางคนในซีกพลังประชารัฐ
จริงอยู่ แม้รัฐบาลจะมีเสียงข้างมากในมือ และเป็นการยากที่จะหลุดจากอำนาจทันทีทันใด แต่จากแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นภายในขั้วรัฐบาลอาจเป็นจะไปเข้าทางฝ่ายค้าน ที่จะล้วงข้อมูลภายในมาตีตลบหลังด้วยการ “ยื่นถอดถอน” ในจังหวะต่อไป ตามที่ได้โฆษณาไว้ก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกันในฝั่งฝ่ายค้าน ศึกซักฟอกรอบนี้ได้ถูกจับจ้องว่า เป็นเดิมพันที่ไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำฝ่ายค้าน แต่ยังนับรวมไปถึง 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่จะต้องลบคำครหา “มวยล้ม-ข้อสอบรั่ว” จากปัญหารอบที่แล้ว โดยเฉพาะ “พรรคเสรีรวมไทย” และ “พรรคก้าวไกล” ที่เสียโอกาสถล่มเป้าหมาย รอบนี้จึงยื่นคำขาดล็อกเป้าอภิปราย “พี่น้อง 3 ป” ไม่ให้พรรคเพื่อไทยบิดพลิ้ว
ฉะนั้นก่อนถึงวันเปิดสังเวียนสองขั้ว ก็จะได้เห็นการชิงไหวชิงพริบด้วยแง่มุมกฎหมาย และกฎหมู่กันแทบทุกชอต
ในเมื่อเป้าหมายของฝ่ายค้านต้องการตอกลิ่มรัฐบาล ให้รอยร้าวระหว่างพรรคร่วมขยายกลายเป็นจุดอ่อนต่อเสถียรภาพรัฐบาลเอง ดังนั้นการแก้เกมของแกนนำอย่างพลังประชารัฐจึงต้องสกัดฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้น เพื่อปิดช่องว่างทุกทาง
ดังนั้นสถานการณ์ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านบนสังเวียนสภาฯ ครั้งนี้ จึงมีเดิมพันสูงไม่น้อยไปกว่ากัน