‘จิรายุ’ชำแหละแผนล้มประมูล’สายสีส้ม’ เอื้อเจ้าสัว-แทรกแซงข้าราชการ
“จิรายุ” ชำแหละแผนล้มประมูลรถไฟฟ้า ”สายสีส้ม” เอื้อเจ้าสัว-แทรกแซงข้าราชการ
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นวันที่สาม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปรายพุ่งเป้าไปที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ถึงการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า หลังจากที่ครม.มีการอนุมัติโครงการสายสีส้มช่วงบาขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) มีความพยายามสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเจรจา จัดโปรพิเศษ 16วันตามใจนาย ด้วยทฤษฎีสมคบคิดโดยมีเจตนาพิเศษ
โดยหลังจากวันที่7ส.ค.2563ซึ่งบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ( มหาชน )ยื่นซองประมูล ต่อมาในวันที่ 21 ส.ค.2563 คณะกรรมการตามมาตรา36แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จำนวน8คน ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งผู้แทนกระทรวงคมนาคม รวมถึงBMTO หรือกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา หลังจากยื่นซองประมูลเพียง 16 วัน
โดยการประชุมวันนั้นมีการเสนอแก้ไขเกณฑ์การประมูลตามที่บริษัทอิตาเลียนไทยฯร้องขอ โดยนายภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่ารฟม.ซึ่งเข้าร่วมประชุมในฐานะที่ได้รับคำเชิญจากรรมการ กลับยืนยันที่จะให้มีการแก้ไขเกณฑ์การประมูล ทั้งที่ไม่ได้เป็นหนึ่งในกรรมการ8 คน รวมทั้งมีข้อท้วงติงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการขัดขวางการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและการเอื้อต่อเอกชน
การประชุมครั้งนั้นน.ส.กนกรัตน์ ขุนทอง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ หนึ่งในกรรมการฯ พยายามท้วงติงว่า เรื่องดังกล่าวอาจเป็นเรื่องที่ขัดต้อกฎหมายเนื่องจากมีการเปิดประมูลไปแล้ว แต่ทางผู้แทนกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ กลับบอกว่าให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้ให้ตำตอบ
ทั้งนี้นายกีรติ กิจมาวัฒน์ ผู้แทนกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ให้เหตุผลในการแก้หลักเกณฑ์ว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหญ่ต้องใช้เทคโนโลยี จึงเห็นสมควรให้แก้ไข จึงทำให้ตนตั้งข้อสังเกตว่า โครงการดังกล่าวมีการดำเนินมากว่า 10 ปีแต่เหตุใดท่านไม่ทราบปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเพิ่งมาแก้ไขเพียง 16 วันหลังจากมีการร้องขอ
หลังจากนั้นโดยนายภคพงษ์ ยังคงยืนยันที่จะให้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลตามที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอ โดยอ้างว่าถ้าแก้แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชนก่อนที่ที่ประชุมจะมีมติแก้ในท้ายที่สุด
แต่หลังจากที่บีทีเอสมีการไปร้องศาลปกครองกระทั่งศาลวินิจฉัยให้ชะลอการปรับเกณฑ์ แต่ในระหว่างรอผลการอุทธรณ์คำสั่งศาลกรรมการกลับเรียกประชุมและล้มการประมูลโดยที่ไม่รอผลอุทธรณ์คำสั่ง โดยเริ่มขั้นตอนตามเกณฑ์ใหม่ทั้งหมดจนส่งผลให้การประมูลเกิดความล่าข้า
หลังมีการล้มประมูลกลับพบว่า นายกีรติ ได้ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาทันทีและกลับพบว่า ไปนั่งเป็นรองผู้อำนาวยการใหญ่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย(ทอท.) ทั้งที่มีข้าราชการซี 10 ที่อยู่ในข่ายรับตำแหน่งดังกล่าวหลายคน
นอกจากนี้ที่ผ่านมานายกีรติซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่อยู่ในสำนวนที่ตนเตรียมนำไปร้องต่อคณะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการสำคัญหลายโครงการอาทิ จัดทำผังเมืองรวมบุรีรัมย์ และเข้าไปดูแลการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ
กรณีที่เกิดขึ้นตนไม่ติดใจว่าบริษัทที่ได้รับประมูลจะเป็นบริษัทใดแต่ต้องมีการเปิดประมูลที่เป็นธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นตนพยายามชี้ให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีเพิกเฉยไม่ยืดถือและปฏิบัติตามหลักการบริการกิจการที่ดี นายกฯและรัฐมนตรีบริหารราชการแผนดินโดยเห็นแก้ประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง ไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่เกิดกับประเทศชาติและประชาชน ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถไว้วางใจนายกฯและรมว.คมนาคมได้