การเมือง
"กมธ.สอบประวัติ กสทช." ขอขยายอีก8วันทำงาน เพื่อความสมบูรณ์
กมธ.สอบประวัติ 14กสทช. วุฒิสภา ขอขยายเวลาทำงานอีก 8 วัน จับตา "ส.ว." อนุญาตหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงาน พล.อ.ทวีป เนตรนิยม ส.ว. ฐานะประธานกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วุฒิสภา ทำหนังสือถึงเพื่อขอขยายเวลาตรวจสอบฯ ออกไปอีก 8 วัน จากเดิมที่จะครบกำหนดในวันนี้ (22 กุมภาพันธ์) ทั้งนี้ที่ประชุมวุฒิสภา จะต้องลงมติว่าจะให้กมธ.ฯ ขยายเวลาหรือไม่ ในช่วงบ่ายวันนี้
ทั้งนี้นายสมชาย แสวงการ ส.ว.ฐานะกมธ.สอบประวัติฯ ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุผลที่ กมธ.ฯ ขอขยายเวลาเนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเข้ามาจำนวนมาก และมีข้อมูลที่ได้รับจากส.ส.และส.ว.ต้องตรวจสอบ ดังนั้นจึงต้องการเวลาตรวจสอบเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ อีกทั้งขณะะนี้ยังรอเอกสารที่ร้องขอไปยังหน่วยงานต่างๆ อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลปกครอง เป็นต้น อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาตามระยะเวลาที่ที่ประชุมให้ทำงาน รวม 15 วันนั้น กมธ. ได้ทำอย่างเต็มที่ แต่เพื่อความสมบูรณ์ของการตรวจสอบจึงขอขยายเวลา อย่างไรก็ดีหากวุฒิสภาไม่อนุญาตให้ขยายเวลา กมธ. เตรียมจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอให้เข้าที่ประชุมในวันพรุ่งนี้ (23กุมภาพันธ์)
“หากวุฒิสภาลงมติไม่เห็นด้วย กมธ.ต้องนำรายงานตรวจสอบเข้าที่ประชุมวุฒิสภา พรุ่งนี้ (23 กุมภาพันธ์) ตามที่นัดหมายให้ลงมติคัดเลือก ซึ่งยอมรับว่ากมธ.ฯ ได้ทำงาน และมีความสมบูรณ์ของการตรวจสอบระดับหนึ่งแต่ที่ขอขยายเพื่อให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด แต่หากวุฒิสภาลงมติขยายเวลา ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อระยะเวลาลงมติเห็นชอบ ตามที่กฎหมายให้เวลาวุฒิสภาดำเนินการภายใน 30 วัน เพราะยังมีเวลาวันที่ 27 - 28 กุมภาพันธ์ ก่อนที่จะปิดสมัยประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หรือพิจารณาในช่วงสมัยวิสามัญ เดือนมีนาคมนี้” นายสมชาย กล่าว
เมื่อถามว่ากมธ.ได้พิจารณากระบวนการทำงาน ต่อการบังคับใช้พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ด้วยหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า หน้าที่ของกมธ.ฯ คือ การตรวจสอบประวัติ และทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ส่วนประเด็นข้อกฎหมาย ที่หลายฝ่ายมองว่าหากกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ จะทำให้กระบวนการของวุฒิสภาเป็นอย่างไรนั้น เป็นประเด็นที่นอกเหนือการทำงานของกมธ. และต้องอาศัยความเห็นทางกฎหมายของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง.