'เมียนมา' จ่อทะลัก ไทยจัดทัพสกัด 'โควิด'

'เมียนมา' จ่อทะลัก ไทยจัดทัพสกัด 'โควิด'

หน่วยงานความมั่นคง ประเมินว่า จะมีประชาชนชาวเมียนมาอพยพลี้ภัยเข้ามาตามแนวชายแดน และจะมีอีกส่วนฉวยโอกาสลักลอบเข้าประเทศมาทำงานพื้นที่

หากไม่เกิด “อาฟเตอร์ช็อก” เหมือนที่ จ.สมุทรสาคร จนต้องพับแผนจัดงานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ 2564 “ศบค.” เตรียมคลายล็อกชุดใหญ่ เพื่อให้ประชาชนฉลองวันสงกรานต์ ที่มีวันหยุดยาวติดต่อถึง 5 วัน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ และปูทางไปสู่การเปิดประเทศในเดือนตุลาคมนี้

สถานการณ์ “โควิด-19” กลับมาอยู่ในการควบคุมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. อีกครั้ง หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อใน จ.สมุทรสาคร ทยอยลดลงต่อเนื่องจากมาตรการตรวจเชื้อเชิงรุกที่กำลังจะครบ 100% ในสัปดาห์หน้า และแผนการฉีดวัคซีนล็อตแรกก็ทำได้เกินเป้าที่ตั้งไว้

จึงเป็นไปได้ว่าวันที่ 19 มี.ค.นี้ ในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะ จะอนุมัติให้คลายล็อกทั่วประเทศทั้ง “ปรับสี” จากจังหวัดสีแดงเข้ม เป็นสีแดง สีส้ม สีเหลือง ตามลำดับ รวมถึงการเปิดให้เดินทางข้ามจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งตลาด ร้านค้า ชุมชน กิจการนวด สปา

แต่ตัวแปรสำคัญ ที่อาจส่งผลกระทบต่อแผนงาน ศบค.ที่สร้างความกังวลให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่น้อย คือ ปัญหาความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่ส่อเค้าบานปลายเรื่อยๆ และอาจถึงจุดพีคช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ หลังเริ่มมีการปะทะระหว่างทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อยฝั่งตรงข้ามแม่สอด จ.ตาก
      

พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการด่วนมายังสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้เตรียมแผนรับมือ และกำชับกองทัพเข้มงวดดูแลพื้นที่ชายแดน หลังหน่วยงานความมั่นคงประเมินว่า จะมีประชาชนชาวเมียนมาอพยพลี้ภัยเข้ามาตามแนวชายแดน และจะมีอีกส่วนฉวยโอกาสลักลอบเข้าประเทศมาทำงานพื้นที่ตอนใน

พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. สั่งการกองกำลังตามแนวชายแดน โดยเฉพาะ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ระยอง เพิ่มความเข้มข้นการลาดตระเวน พร้อมเตรียมแผนรองรับคือจัดพื้นที่แรกรับ เพื่อคัดแยกคนแต่ละกลุ่มที่อพยพข้ามแดนมา

เบื้องต้นแบ่งเป็น

1. กลุ่มคนไทยในเมียนมาที่ต้องการกลับบ้าน ซึ่งต้องได้รับความปลอดภัยขั้นสูงสุด ดูแลการเจ็บป่วย ช่วยเหลือในด้านต่างๆ โดยประสานกระทรวงมหาดไทยเข้ามาดูแล เพื่อให้การคัดแยกรวบรวม และเข้าสู่กระบวนการให้เร็วที่สุด

2. กลุ่มคนเมียนมาซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ให้มหาดไทยประสานกับทาง UNHCR ยูเอ็นเอชซีอาร์ หรือสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในการสนับสนุนเรื่องความเป็นอยู่ อาหาร พร้อมประสานกองกำลังทหารตามแนวชายแดนในการจัดพื้นที่พัก

3. กลุ่มชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ต้องเข้ามาหางาน โดยลักลอบเข้าพื้นที่ชั้นในให้ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมาย ก่อนพิจารณาช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมทั้งสองส่วน

4. กลุ่มชาวต่างชาติในเมียนมาที่ไปประกอบธุรกิจ เช่น นักลงทุน นักธุรกิจ นักการทูต เจ้าหน้าที่ทูต ที่ต้องการอพยพหนีภัย หากเกิดเหตุการณ์รุนแรง โดยให้จัดพื้นที่พักคอย ก่อนเดินทางกลับประเทศของตัวเอง

5. ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธหากมีการสู้รบ และมีการทะลักเข้ามาฝั่งไทย ต้องได้รับการปลดอาวุธทั้งหมด และต้องมีการจัดพื้นที่รองรับ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กำชับให้ทุกกลุ่มต้องเข้ารับการคัดกรอง ตรวจเชื้อ “โควิด-19” อย่างเข้มข้นก่อนจะเข้าสู่กระบวนการตามมาตรการของรัฐ คัดแยกเข้าสู่พื้นที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ของแต่ละกลุ่ม เรียกว่า “พื้นที่รวบรวม”

การดูแลผู้อพยพชาวเมียนมา แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม แต่สิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือมาตรการป้องกัน “โควิด-19” เพราะหากเกิดข้อผิดพลาด แผนคลายล็อก ศบค.ช่วงสงกรานต์อาจล้มไม่เป็นท่า และส่งผลให้ประเทศไทยต้องหยุดชะงักอีกครั้งทันที