เช็ค! ‘กทม.’ ออกข้อกำหนด คุม ‘โควิด-19’ ระบาด - ห้ามเด็ดขาด รวมตัวเกิน50คน เว้นจัดงานเลี้ยง
กรรมการโรคติดต่อ “กทม.”ออก 4ข้อกำหนด คุม “โควิด-19“ ระบาดในพื้นที่ ห้ามเด็ดขาด การรวมตัวเกิน50คน ส่วนงานเลี้ยง จัดเกิน50คนต้องขออนุญาติเขต
พล.ตอ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร แถลงผลกประชุมกรรมการ ว่า หลังจากที่ ศบค. ประกาศ ให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และปฏิบัติมาตรการต่างๆไม่น้อยกว่า 14 วันนับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน นี้ คณะกรรมการจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติให้สอดคล้องกัน ดังนี้
1.ร้านอาหารเปิดให้นั่งทานอาหารไม่เกิน 21.00 น. งดจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน กรณีจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเพื่อให้กลับไปบริโภคที่อื่น ทำได้จนถึงเวลา 23.00 น. ส่วนสถานบันเทิงผับ บาร์คาราโอเกะ อาบอบนวดปิดให้บริการ
2.ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าเปิดให้บริการถึง 21.00 น. โดยงดให้บริการตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุก
3. ร้านสะดวกซื้อเปิดได้เวลา 04.00-23.00 น.
4.สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชางดการเรียนการสอนในห้องเรียน สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ฟิตเนสและยิมเปิดให้บริการถึง 21.00 น.
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มเกิน 50 คน ห้ามดำเนินการ ส่วนกิจกรรมที่เป็นงานเลี้ยง งานสังสรรค์ ที่มีคนรวมกลุ่มเกิน 50 คน ให้ขออนุญาตสำนักงานเขตพื้นที่ และจะได้เร่งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้สถานประกอบการ บริษัทสลับวันทำงาน เหลื่อมเวลาทำงานหรือใช้มาตรการwork from home ให้ได้มากที่สุด
ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกทม. กล่าวถึงความคืบหน้าต่อการจัดสถานที่พยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า กทม. สามารถรับผู้ป่วยโควิดได้ 9,183 คน ทั้งนี้ มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแล้ว 4,939 คน และสามารถรับได้อีก 4,244 คน ทั้งนี้มีแผนการรับผู้ป่วยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 การเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครให้รองรับผู้ป่วยโควิดให้มากขึ้น ทั้งในโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครและนอกสังกัด
ระดับที่ 2 การเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการ (Hospitel) สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ให้รักษาตัวในโรงแรมที่จัดหาไว้ให้
ระดับที่ 3 จัดทำโรงพยาบาลสนามเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับผู้ป่วย โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครได้พร้อมรองรับ ณ โรงพยาบาลเอราวัณ 1 (ศูนย์เฉลิมพระเกียรติฯบางบอน) สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 200เตียง และโรงพยาบาลเอราวัณ 2 (ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนาหนองจอก) สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 350 เตียง
"นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลกองทัพและโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่ยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้อีก ในส่วนของความล่าช้าในการรับ-ส่งผู้ป่วย ได้เร่งเพิ่มศักยภาพการทำงานโดยให้ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักเทศกิจและ 50 สำนักงานเขตจัดรถร่วมให้บริการรับส่งผู้ป่วยที่ตกค้างเพื่อให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็วและปลอดภัยต่อไป"โฆษก กทม.กล่าว