จาก 'ปารีณา' ถึงคิว 'ธรรมนัส' 'ดาบ 2' มาตรฐานจริยธรรม
นักการเมืองที่ถูก “มาตรฐานทางจริยธรรม” เล่นงานรายแรก คือ “เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี กรณีถือครองที่ดินของรัฐโดยมิชอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ยังอยู่ในสถานะ ส.ส.พะเยา และดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ต่อไปได้ แต่กระแสสังคมก็ยังวิจารณ์กันไม่จบ เช่นเดียวกับฝ่ายที่ยื่นตรวจสอบ ก็ไม่หยุดเพียงแค่คำพิพากษาครั้งนี้ แต่ยังมีความพยายามหาช่องทางที่จะดำเนินการกับ “ ร.อ.ธรรมนัส” ด้วย “ดาบ 2” ว่าด้วยจริยธรรมนักการเมือง
เหตุผลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ขาดว่า "คดีเกี่ยวกับยาเสพติดที่ ร.อ.ธรรมนัส เคยต้องคำพิพากษาของศาลในออสเตรเลีย ไม่มีผลบังคับในประเทศไทย ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย จึงไม่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เพราะมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัคร ส.ส. ตามบทบัญญัติมาตรา 98 ประกอบมาตรา 101 มาตรา 160 และมาตรา 170 ของรัฐธรรมนูญ"
ทำให้คำวินิจฉัยคดีนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก และถูกมองว่าเป็นการสร้าง “มาตรฐานใหม่” ทางการเมืองอีกครั้งของศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่กระแสจากหลายฝ่ายในสังคม รวมทั้งนักวิชาการด้านกฎหมาย ต่างหยิบยก “เจตนารมณ์ของกฎหมาย” ที่ต้องการให้คนไม่มีมลทินมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยยก “ความเห็น” ของคณะกรรมการกฤษฎีกาในอดีตอย่างน้อย 2 เรื่อง มาโต้แย้ง
ทว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ใช่ “คำวินิจฉัย” หรือ “คำพิพากษา” จึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ต่างจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งความต่างระหว่างความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่นำมาอ้างอิง กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณี ร.อ.ธรรมนัส ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 บัญญัติห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกเกิน 2 ปี และยังพ้นโทษไม่ถึง 5 ปี ลงสมัครรับเลือกตั้ง แปลว่าถ้าพ้นโทษเกิน 5 ปีแล้วลงสมัครได้
จุดนี้เองที่ทำให้ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย “วิษณุ เครืองาม” ยกมาอธิบายว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ขัดหรือแย้งกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจาก ร.อ.ธรรมนัส พ้นโทษมาเกิน 5 ปีนานแล้ว
แม้ในสังคมจะมีความเห็นต่าง แบ่งเป็น 2 ฝ่าย แต่กรณีนี้ก็ยังไม่จบง่ายๆ โดยเฉพาะการตรวจสอบเรื่องของจริยธรรมนักการเมือง ที่ยังมีช่องทางให้เล่นงาน ร.อ.ธรรมนัส ได้อีก
นักการเมืองที่ถูก “มาตรฐานทางจริยธรรม” เล่นงานรายแรก คือ “เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ จากกรณีถือครองที่ดินของรัฐโดยมิชอบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
กระบวนการตรวจสอบจริยธรรม ปัจจุบันมีมาตรฐานจริยธรรมที่ ส.ส. รัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยึดถือและปฏิบัติตาม เป็นมาตรฐานจริยธรรมที่ยกร่างโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บังคับใช้กับศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการองค์กรอิสระ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย มาตรฐานจริยธรรมฉบับนี้ บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2561