19 พ.ค. 2564 เวลา 08.30 น. พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย เนื่องในวันอาภากร ณ พระอนุสาวรีย์ฯ หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน ถนนอิสรภาพ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยมี นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ ราชสกุลอาภากร ซึ่งภายหลังพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ กองทัพเรือ และราชสกุลอาภากร ได้จัดให้มีพิธีทักษิณานุประทานอุทิศถวาย ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมี ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธี
พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2423 ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ เจ้าจอมมารดาโหมด ในปีพุทธศักราช 2439 เสด็จไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้มีพระวิริยะอุตสาหะจนผลการศึกษาปรากฏอยู่ในขั้นดีเยี่ยม และมีพระจริยวัตรที่งดงามเป็นที่รักใคร่ของ ครู อาจารย์ เป็นที่ยอมรับนับถือของชาวอังกฤษที่ได้ศึกษาอยู่ในคราวเดียวกัน เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาเป็นนายทหารสัญญาบัตร ในราชนาวีอังกฤษแล้ว ได้เสด็จกลับเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ในปีพุทธศักราช 2443 รับพระราชทานยศเป็น “นายเรือโทผู้บังคับการ” ในตำแหน่ง นายธงผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ปีพุทธศักราช 2448 ทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้ทรงปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนนายเรือให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ทหารเรือไทยมีความรู้ ความชำนาญ สามารถเป็นครู และเป็นผู้บังคับบัญชาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาชาวต่างประเทศ
ในปีต่อมาทรงมีพระดำริ ในการจัดตั้งโรงเรียนนายช่างกล เพื่อรับผิดชอบเครื่องจักรในเรือ และในโรงงานบนบกแทนชาวต่างประเทศที่จ้างไว้ ในปีพุทธศักราช 2450 ทรงเป็นผู้บังคับการเรือหลวงมกุฎราชกุมาร นำนักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายช่างกล ไปฝึกภาคต่างประเทศ ได้ทรงนำเรือแวะที่สิงคโปร์และเปลี่ยนสีเรือมกุฎราชกุมาร จากสีขาวเป็นสีหมอกให้เหมือนกับเรือรบต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับลักษณะของสีน้ำทะเล และภูมิประเทศ ซึ่งกองทัพเรือได้นำสีดังกล่าวมาใช้เป็นสีเรือทุกลำของกองทัพเรือ ตราบจนปัจจุบัน
นอกจากจะคุณูปการอเนกอนันต์แก่กองทัพเรือแล้ว พระองค์ยังมีพระปรีชาสามารถในด้านการแพทย์แผนโบราณของไทย โดยในปีพุทธศักราช 2454 ขณะทรงออกจากราชการเป็นเวลา 6 ปีเศษ เพื่อทรงศึกษาตำราหมอยาไทยอย่างจริงจัง จนมีความรู้แตกฉาน ทรงเป็นหมอยาไทย รับรักษาประชาชนโดยทั่วไปด้วยน้ำพระทัยโอบอ้อมอารี จนได้รับพระสมัญญานามว่า “หมอพร”
ในปีพุทธศักราช 2460 ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กลับเข้ารับราชการทหารเรืออีกครั้ง และในปีพุทธศักราช 2462 พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงพิเศษให้ดำเนินการจัดซื้อเรือหลวงพระร่วงจากประเทศอังกฤษ และทรงเป็นผู้บังคับการเรือ นำเรือหลวงพระร่วง เดินท างจากประเทศอังกฤษกลับมายังประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่นายทหารเรือไทยเดินเรือได้ไกล
ข้ามทวีป ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2465 พระองค์ได้กราบบังคมทูล ขอพระราชทานที่ดินพื้นที่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ และหน่วยกำลังรบต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งมาจนถึงปัจจุบัน
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้กราบบังคมทูลออกจากราชการเพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2466 เนื่องจากพระองค์ทรงมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ และประชวรพระโรคภายในอยู่ด้วย โดยทรงประทับอยู่ทางใต้ของปากน้ำเมืองชุมพร ขณะที่พระองค์ประทับอยู่นี้ก็เกิดพระโรคหวัดใหญ่ เนื่องจากถูกฝน ทรงประชวรอยู่เพียง 3 วัน ก็สิ้นพระชนม์ที่ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ในวันที่ 19 พฤษภาคม พุทธศักราช 2466
สิริพระชนมายุ 43 พรรษา
ด้วยพระกรณียกิจตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการทหารเรือ ส่งผลให้กองทัพเรือ มีความเจริญก้าวหน้า สามารถทำหน้าที่รั้วของชาติทางทะเลได้อย่างเข้มแข็งสืบต่อมา ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง กองทัพเรือจึงได้ประกาศขนานพระนามเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” และได้กำหนดให้วันที่
19 พฤษภาคมของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เป็น “วันอาภากร” โดยกำหนดจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระกรุณาคุณ ของพระองค์ท่านเป็นประจำทุกปี
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในปีนี้ จึงได้มีการปรับลดจำนวนผู้ร่วมงานและการเพิ่มมาตรการเว้นระยะห่าง จาก จากเดิมที่มีผู้ร่วมพิธีประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการต่างๆของกองทัพเรือ ราชสกุลอาภากร สมาคมภริยาทหารเรือ องค์กรภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เหลือเพียงในส่วนของ กองทัพเรือ โดย ผู้บัญชาการทหารเรือ และ คณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ ผู้แทนราชสกุลอาภากร โดย หม่อมราชวงศ์ จิยากร อาภากร เสสะเวช ประธานกรรมการมูลนิธิ ราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และ สมาคมภริยาทหารเรือ โดย นางจุฬารัตน์ ศรีวรขาร นายกสมาคมภริยาทหารเรือ ทั้งนี้ ยังคงไว้เฉพาะพิธีการสำคัญ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระกรุณาคุณ ตลอดจนถวายเป็นพระกุศลแด่ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย ที่ทรงมีพระกรุณาคุณต่อกองทัพเรือเป็นอเนกอนันต์