‘ผู้ว่าฯบุรีรัมย์’ ปิดปากสื่อ ปัดคำสั่ง ‘ไม่ฉีดวัคซีนติดคุก’

‘ผู้ว่าฯบุรีรัมย์’ ปิดปากสื่อ ปัดคำสั่ง ‘ไม่ฉีดวัคซีนติดคุก’

เปิดคำสั่ง “ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์” สั่งเอาผิดคนในจังหวัดที่ฝ่าฝืนไม่ตรวจ-ไม่ฉีดวัคซีน พร้อมส่งหนังสือข่มขู่สื่อเครือเนชั่นฯ แก้ข่าว ขีดเส้น 3 วัน ไม่ทำตาม ดำเนินการตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีมีคำสั่งทางปกครองในการบังคับให้คนในจังวัดบุรีรัมย์ อายุ 18 ปีขึ้นไป ต้องฉีดวัคซีนมิเช่นนั้นจะมีความผิดโทษถึงจำคุกและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท โดยนายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้กำกับบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกหนังสือที่ บร 0032/9580 ลงวันที่ 18 พ.ค. 2564 เรื่องขอให้แก้ข่าวในรายการ “เนชั่นสุดสัปดาห์” ว่าเสนอไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ส่งถึงผู้อำนวยการใหญ่บริษัท เนชั่น บอร์ดแคสติ้ง จำกัด (มหาชน) ในกรณีรายการเนชั่นสุดสัปดาห์ ที่ออกอากาศวันที่ 16 พ.ค. 2564 โดยอ้างว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ออกคำสั่งที่ 13/2564 ให้ประชาชนมาลงทะเบียน เป็นการบังคับประชาชนมาฉีดวัคซีน และละเมิดสิทธิของประชาชน ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด มีผลต่อความเชื่อมั่นต่อคณะกรรมการป้องกันโรคติดต่อประจำจังหวัด และเกิดความเสียหายต่อผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอย่างมาก

หนังสือชี้แจงว่า "จากการออกคําสั่ง มีประเด็นที่สําคัญ เพียงแค่ 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 มีเจตนาเพียงให้ทําแบบประเมินความเสี่ยง ว่าจะประสงค์จะรับวัคซีนหรือไม่ประสงค์จะรับวัคซีนเท่านั้น ส่วนประเด็นที่ 2 มีเจตนาเพียงที่จะกํากับดูแลเฉพาะบุคคลที่มีความเสี่ยงในวงระบาดที่ 1 และวงระบาดที่ 2 ประกอบการประเมินของแพทย์เห็นว่า บุคคลนั้น หากได้รับวัคซีนก่อนการเจ็บป่วยหรืออาจจะเจ็บป่วย น่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบุคคลนั้น ดีกว่าที่ จะปล่อยให้เจ็บป่วยไปก่อน มิใช่เป็นการบังคับทุกคนที่จะต้องรับวัคซีนนั้น ทั้งนี้ ไม่ว่าในส่วนประเด็นที่ 1 หรือ ประเด็นที่ 2 ก็ไม่มีส่วนไหนชัดเจนว่า ทุกคนจะต้องรับวัคซีน"

หนังสือระบุว่า ภายหลังที่ออกคําสั่งดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่ามีผู้ทําการลงทะเบียนในแบบประเมิน ความเสี่ยงและแสดงเจตจํานงจะประสงค์จะรับวัคซีนหรือไม่รับวัคซีนผ่านช่องทางต่างๆ ของจังหวัดบุรีรัมย์ 427,763  คน (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2564) จากประชากรทั้งหมด 1,141,983 คน ซึ่งแบบประเมินความเสี่ยงดังกล่าว มีทั้งผู้ที่ประสงค์จะรับวัคซีนและไม่ประสงค์จะรับวัคซีนจังหวัดบุรีรัมย์ ขอยืนยันว่า คําสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ที่ 13/2564 เป็นคําสั่งที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เล็งเห็นประโยชน์ของคําสั่งฉบับนี้ ในการป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อีกทั้งป้องกันมิให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่หรืออาจแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์

ดังนั้น การที่บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง จํากัด (มหาชน) ได้ออกอากาศรายการเนชั่น สุดสัปดาห์ โดยอ้างว่าจังหวัดบุรีรัมย์ได้ออกคําสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ประชาชนมาลงทะเบียน เป็นการบังคับประชาชนฉีดวัคซีน และละเมิดสิทธิของประชาชนนั้น จึงคลาดเคลื่อน กับข้อเท็จจริงผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อ และผู้กํากับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดบุรีรัมย์ จึงขอให้พิจารณา ดังนี้ 1.ขอให้บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง ดําเนินการแก้ไขการนําเสนอข่าวดังกล่าวให้ตรงกับข้อเท็จจริงและจุดมุ่งหมายตามที่เรียนให้ทราบข้างต้น 2.หากไม่ดําเนินการแก้ไขข่าวภายใน 3 วัน จังหวัดบุรีรัมย์จะดําเนินการตามกฎหมายต่อไป

จากการตรวจสอบคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมของผู้ว่าฯบุรีรัมย์ที่ 13/2564 จะพบความดังนี้... “ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ในประเทศไทย และหลายจังหวัดยังคงมีอัตราป่วยและอัตราป่วยตายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงจําเป็นต้องกําหนดมาตรการ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อให้การควบคุมสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 22 (7) มาตรา 34 (2) และมาตรา 45 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แต่งตั้ง เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ ) พ.ศ. 2563 ข้อ 6 (1) ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563 และข้อ 7 (1) ของกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหาร ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2503 ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์

โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ จึงให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ เรื่อง การป้องกันการระบาดใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 แล้วให้ออกคําสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ที่ 13/2564  ดังมีข้อความต่อไปนี้...

ข้อ 1 เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ใน พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ให้ประชาชนทุกคน ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มีภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือบุคคลที่มา ปฏิบัติงานในจังหวัดบุรีรัมย์ และหรือพักอาศัยในจังหวัดบุรีรัมย์ ทําการประเมินตนเองตามแบบประเมินความเสี่ยง โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดบุรีรัมย์ที่กําหนดตามเอกสารแนบท้ายคําสั่งนี้ ต่ออาสาสมัครสาธารณสุข ประจําหมู่บ้าน (อสม.) ในชุมชน/หมู่บ้าน ที่ท่านพักอาศัยอยู่ โดยกระบวนการ อสม. เคาะประตูบ้าน หรือ ผ่านระบบออนไลน์ QR code BURIRAM IC ในฐานข้อมูลกลางจังหวัดบุรีรัมย์สําหรับบริการวัคซีนป้องกัน โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือผ่านศูนย์ประสานงานรับบริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ของโรงพยาบาล/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบลใกล้บ้าน เกี่ยวกับความเสี่ยงใน การติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่จัดกลุ่มการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ข้อ 2 ในกรณีที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ/เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจพบหรืออาจตรวจ พบว่าบุคคลใดหรือบุคคลดังกล่าวในข้อ 1 เป็นผู้ที่มีความเสี่ยง/อาจมีความเสี่ยงที่จะติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เจ้าพนักงานนั้นมีอํานาจสั่งให้ผู้ที่มีความเสี่ยง/อาจมีความเสี่ยงที่จะติดโรคนั้น ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามวัน เวลา และสถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานนั้นกําหนด เพื่อป้องกันมิให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่หรืออาจแพร่ออกไป

ข้อ 3 หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคําสั่งตามข้อ 1 มีโทษตามนัยมาตรา 44 แห่ง พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคําสั่งตาม ข้อ 2 มีโทษตามนัยมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับสั่ง ณ วันที่ 13  พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ลงนามโดย นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าฯบุรีรัมย์

หากพิจารณาจากสื่อมวลชนทั้งหลายจะพบว่า คำสั่งดังกล่าวถูกนำเสนอไปในทางเดียวกัน ดังนี้ “บุรีรัมย์ ออกกฎเหล็ก ประชาชนกลุ่มเสี่ยงไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 มีโทษติดคุก” https://www.thairath.co.th/news/local/2092166

“บุรีรัมย์ใช้ยาแรง! กลุ่มเสี่ยงไม่ฉีดวัคซีนโควิดติดคุก” https://www.tnnthailand.com/news/covid19/79789/

“บุรีรัมย์ ออกกฎเหล็ก ปชช. กลุ่มเสี่ยงไม่ฉีดวัคซีนติดคุก” https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2722921

และในเรื่องนี้แม้แต่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯรัฐมนตรี ก็ยังถูกตั้งคำถามโดยนักข่าวและตอบคำถามปมผู้ว่าฯบุรีรัมย์ ใช้ กม.เอาผิดปฏิเสธวัคซีนโควิด ตามลิงค์ https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2723441 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 เนื้อหาระบุว่า

“ยังไม่เห็นข้อความตามประกาศดังกล่าว

ทั้งนี้ สธ.ดำเนินการควบคุมโรคโควิด-19 ภายใต้การดำเนินงานของ ศบค. ตามขอบข่ายกฎหมาย ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สามารถออกกฎเกณฑ์ วางนโยบาย ควบคุมโรคภายในจังหวัดให้มีความปลอดภัยได้ภายใต้ขอบข่ายของกฎหมาย นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 สธ.จะต้องได้รับการร้องขอจากทางจังหวัด องค์กรต่างๆ ผ่าน ศบค.เพื่อให้เร่งจัดส่งวัคซีนไปอย่างทันท่วงที ให้ครอบคลุมและเพียงพอ

ผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายเป็นไปตามความสมัครใจ แต่การออกประกาศแบบนี้เข้าข่ายเป็นการบังคับรับวัคซีนหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่เห็นประกาศ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีสิทธิวางนโยบายเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในจังหวัดของตัวเอง

“คิดว่าคงดูแล้วว่าอะไรที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดกฎหมาย ถ้าไม่ขัดกฎหมายก็เป็นไปตามนั้น” นายอนุทิน กล่าวเมื่อถามว่า ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การประกาศดังกล่าวเพราะถูกสั่งการจากเมือง เนื่องจากก่อนหน้านี้ตัวเลขลงทะเบียนรับวัคซีนผ่าน “หมอพร้อม” น้อยมากแค่หลักพันราย ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ของรัฐมนตรีว่าการ สธ. โดยนายอนุทิน กล่าวว่า อย่าโยง วันนี้ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ.ไม่ใช่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต้องดูแลคนทุกคนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน หน่วยไหน ถ้าคิดเป็นการเมือง โดยเอาสุขภาพประชาชน มาเป็นข้อต่อรอง มาชิงไหวชิงพริบกันทางการเมือง ประเทศอยู่ไม่ได้ ตัวรัฐมนตรีก็อยู่ไม่ได้...

นี่คือความจริงในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่กำลังถูกฝ่ายที่มีอำนาจใช้ยุทธิวิธี SLAPP: Strategic Lawsuit Against Public Participation” แปลว่า “การปิดปากสื่อด้วยการใช้คดีความทางกฎหมาย ในยามที่ผู้มีอำนาจไม่อยากจะให้ผู้คนรู้ความจริง” ประชาชนโปรดพิจารณา.