ศาลยกฟ้อง 'วรเจตน์' ฐานขัดคำสั่ง คสช. ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ
ศาลแขวงดุสิต พิพากษายกฟ้อง วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ฐานขัดคำสั่งรายงานตัว คสช. เนื่องจากคำสั่ง คสช.ขัดกับรัฐธรรมนูญ
8 มิ.ย.2564 ที่ศาลแขวงดุสิต ถนนนครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นจำเลยในความผิดฐานขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่ 5/2557 , 29/2557 และ 41/2 557 ซึ่งเป็นคดีมีโทษทางอาญาและโอนคดีมาจากศาลทหารกรุงเทพฯ หลังจากที่คณะคสช.สิ้นสุดบทบาทลง โดยคดีนี้นายวรเจตน์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงดุสิต ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา 212 ว่ากฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 5 26 และ 29 หรือไม่ เพราะคำสั่งของคสช. เป็นการกำหนดโทษของผู้ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง หลังจากที่การกระทำได้ผ่านไปแล้วจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยว่า คำสั่งของคณะคสช. มีลักษณะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 427 และ 29 เพราะมีลักษณะเป็นการใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาย้อนหลัง และเป็นการใช้กฎหมายโดยเฉพาะเจาะจงกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด ดังนั้นกฎหมายที่ใช้กับคดีของผู้ร้องจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าว
นายวรเจตน์ กล่าวว่า คดีนี้ตนมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในช่วงท้ายๆคดีของการสืบพยานที่ศาลแขวงดุสิต โดยได้ยื่นคำร้องต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ว่าประกาศของ คสช. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามช่องทางมาตรา 212 เพราะถ้าตนไปยื่นเร็ว ก็ต้องไปพบกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อน ก็ไม่แน่ว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีความพยายามที่นำคดีเข้าสูการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นคล้ายๆกันตลอดมา ซึ่งแนวเดิมยังไม่เคยมีการตรวจสอบคำสั่งต่างๆของคสช.เลย เพราะศาลธรรมนูญชุดก่อนๆจะบอกว่าคำสั่งของคสช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญเพราะมีการรับรองไว้แล้ว หรือมีการรับรองความชอบของคำสั่งนั้นๆไว้แล้ว
นายวรเจตน์ กล่าวว่า คำร้องที่ตนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ แม้ว่าผลจะออกมาตรงกับที่ตนขอไปก็จริง แต่ว่าก็ยังไม่ครบเพราะมีบางประเด็นที่ตนได้ร้องเข้าไป แต่ศาลก็ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยออกมาว่าคำสั่งของคสช. ออกมาโดยชอบหรือไม่ และมีวิธีการจะเข้าไปตรวจสอบอำนาจของคสช.ในการออกคำสั่งได้อย่างไร ซึ่งหากมีคำวินิจฉัยออกมาชัดเจนในคราวเดียวทั้งหมดก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นๆด้วย สำหรับคดีของตนที่ร้องต่อศาลนั้นมีการวินิจฉัยว่า ประกาศของคสช.ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะมีการกำหนดโทษเกินกว่าเหตุ และประกาศของคสช. มีผลย้อนหลัง จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากคสช. เรียกตนเข้าไปรายงานตัวตอนเช้า ตอนบ่ายก็จะสั่งกำหนดโทษทันที
ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ เปิดเผยหลังฟังคำพิพากษาว่า วันนี้ศาลเเขวงดุสิต มีคำพิพากษาสั้นๆว่า ประกาศ คสช.ซึ่งมีโทษทางอาญาทั้ง 2 ฉบับนั้นขัดรัฐธรรมนูญ การดำเนินคดีในความผิดลักษณะนี้ในทางอาญาโดยอาศัยประกาศดังกล่าวเป็นหลักในการลงโทษ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประกาศดังกล่าว
นายวิญญัติ กล่าวว่า ทั้งคำพิพากษาในวันนี้เเละคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร ย่อมหมายความว่า บุคคลที่ยังไม่ได้มารายงานตัวเเล้วเกรงว่าจะมีความผิดฐานนี้ให้ไม่เป็นความผิด คดีนี้ตนเชื่อว่าพนักงานอัยการคงไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา เพราะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว