ซิงเกิลคอมมานด์ อำนาจในมือนายกฯ
การบริหารสถานการณ์ "โควิด-19" ระลอกที่ 3 อยู่ในอำนาจ "นายกฯ" ที่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายทั้ง 31 ฉบับได้เต็มที่ ครอบคลุมการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน ช่วยเหลือประชาชน รวมถึงการบริหาร "วัคซีน"
การบริหารสถานการณ์การระบาดของ "โควิด-19" ระลอกที่ 3 อยู่ในอำนาจของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้กำกับกฎหมาย 31 ฉบับ ตามประกาศเรื่องการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2564
เพื่อให้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือผู้รักษาการตามกฎหมาย หรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็น "อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี" เป็นการชั่วคราว เพื่อใช้บริหารสถานการณ์การระบาดระลอกปัจจุบัน
อำนาจที่นายกรัฐมนตรีได้รับโอนมาครอบคลุมการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือ ประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายทั้ง 31 ฉบับได้เต็มที่
เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม
อำนาจที่มีดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ถึงการบริหารจัดการ "วัคซีน" ที่มีการเริ่มฉีดแบบปูพรมให้ประชาชนทั่วประเทศมาตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2564 ทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้เต็มที่
และเมื่อเกิดปัญหาหรืออุปสรรคที่กลไกการทำงานของระบบราชการไม่ปกติก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะเข้าไปสั่งการ โดยเฉพาะเมื่อการฉีดวัคซีนแบบปูพรมเริ่มเห็นปัญหาจากการที่การฉีดวัคซีนในจุดฉีดหลายแห่งได้ประกาศเลื่อนการฉีดออกไป
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ "การรับมอบวัคซีนมีปัญหา" โดยผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ตามกำหนดส่งผลให้ไม่สามารถกระจายวัคซีนไปให้จุดฉีดวัคซีนได้จนนำมาสู่การประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ และเมื่อไม่สามารถให้ผู้ผลิตวัคซีนส่งมอบได้ตามกำหนดก็ต้องมาบริหารจัดการวัคซีนที่มีอยู่ให้ดีที่สุด รวมทั้งการอธิบายข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบถึงความล่าช้าของการรับมอบวัคซีนที่เป็นผลให้ประชาชนได้รับวัคซีนล่าช้าไปด้วย
นายกรัฐมนตรี คือ ผู้บริหารสูงสุดของรัฐบาล รวมทั้งเป็นผู้บริหารสูงสุดของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้รวม 31 ฉบับ
ถึงแม้จะบังคับผู้ผลิตวัคซีนไม่ได้ แต่เมื่อเห็นปัญหาใดที่อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีก็ควรเร่งเข้าไปแก้ไข โดยเฉพาะกลไกการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินส่วนใดที่เป็นปัญหาก็ต้องเข้าไปปรับปรุงปรับเปลี่ยน เพื่อให้การรับมือเดินหน้าเต็มประสิทธิภาพที่สุด