'ป๋าเปรม' โมเดล 'ประยุทธ์' รัฐบาล(ไม่)ครบเทอม
แม้ "พล.อ.ประยุทธ์" จะมีเวลาแก้มือเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน แต่การบริหารงานจนครบเทอมตามเป้าหมายที่วางไว้ เป็นไปได้ยากยิ่ง กับปัญหาที่ประเดประดังเข้ามา
ด้วยภาพลักษณ์สัตย์ซื่อ มือสะอาด และบุคลิกโดดเด่น มีภาวะความเป็นผู้นำ ทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้ง สามารถบริหารประเทศได้ถึง 8 ปี 5 เดือน
นี่คือบุคคลที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาจากรัฐประหารและการเลือกตั้ง ยึดเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตและการทำงาน และคาดหวังว่าหากเดินตามต้นแบบนี้จะสามารถบริหารประเทศครบเทอมเช่นเดียว 'พล.อ.เปรม' กับสโลแกน "รัฐบาลนี้ไม่มีโกง"
แต่สถานการณ์แพร่ระบาด 'โควิด-19' เป็นตัวแปรสำคัญทำให้ 'พล.อ.ประยุทธ์' เดินไม่ถึงเป้าหมาย แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวันอยู่ในระดับทรงตัว 2,000- 3,000 คน แต่ก็ยังถือว่าสูง ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มต่อเนื่อง
ในขณะที่ปัญหาการบริหารจัดการวัคซีนทำ 'รัฐบาล' เสียคะแนนนิยมไปไม่น้อย
'พล.อ.ประยุทธ์' ปรับกลยุทธ์หวังเรียกความเชื่อมั่น โดยตั้งเป้าเปิดประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน พร้อมโชว์โรดแม็พพลิกฟื้นวิกฤติ 'โควิด-19' ให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม ทั้งลดขั้นตอนวิธีการทำงานเพื่อความรวดเร็วในการตัดสินใจ
ในขณะเดียวกัน ยังเปิดเผยความคืบหน้าเจรจานำเข้าวัคซีนยี่ห้อใหม่ ๆ กับบริษัทผู้ผลิต 6 ราย ทั้ง ไฟเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โมเดิร์นน่า รวมถึง แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม และทำสัญญาจอง หรือสัญญาซื้อไปแล้ว 105.5 ล้านโดส ส่วนปีหน้าเตรียมแผนจัดซื้อเพิ่มเติม
ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ของนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เรื่องวัคซีน มีหลายตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้อง และต้องบริหารจัดการให้ดีไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบทางการเมืองที่รุนแรง เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพรัฐบาล
"โดยเฉพาะ 4 เดือนข้างหน้านี้ หากการนำเข้าวัคซีนและกระจายฉีดให้ประชาชนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะมีปัญหาการเมืองมาก และไปเกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค และจำนวนเตียงในโรงพยาบาลที่ไม่พอรองรับผู้ป่วย โดยเฉพาะการเปิดประเทศเสี่ยงทำเกิดระบาดครั้งใหม่ ในขณะที่ระลอกเก่ายังไม่ลง ระลอกใหม่ก็สกัดไม่ได้ ทุกอย่างวกกลับมาลงที่รัฐบาล"
สำหรับผลกระทบเศรษฐกิจนั้น ดร.ปณิธาน มองว่า จะแสดงออกมาในไตรมาสสุดท้าย เพราะจากสถานการณ์ที่ผ่านมาเห็นได้ชัด ธุรกิจต่างๆ อยู่สภาวะชะงัก บางธุรกิจก็ไปต่อไม่ไหว การท่องเที่ยวต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นตัว โดยสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหาไปกดทับสถานการณ์การเมืองช่วงปลายปี ซึ่งจะเข้าสู่ปีที่ 3 การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์
"รัฐบาลยังมีเวลาแก้มือ เรียกความเชื่อมั่นให้กลับมา เพื่อสู้ศึกการเลือกตั้งครั้งหน้า และมองว่า นายกฯ ที่มาจากหน่วยงานที่มีระเบียบวินัยสูงอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถทำงานในช่วงวิกฤติได้ดี"
แม้ 'พล.อ.ประยุทธ์' จะใช้เวลาที่มีอยู่ พลิกวิกฤติ 'โควิด-19' ให้เป็นโอกาสหวังสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ในขณะเดียวกัน ต้องประคับประคองปัญหาความไม่ลงรอย และกินแหนงแคลงใจในพรรคร่วมรัฐบาลทั้งประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย
เพราะตระหนักดีว่าการ "เปลี่ยนม้ากลางศึก" หรือยุบสภาในเวลานี้ นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้วยังเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่ลงไปอีก เพราะจะทำประเทศเข้าสู่สภาวะชะงักงัน ข้าราชการเกียร์ว่าง รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณเกิดข้อจำกัดมากมาย
ครั้นจะบริหารงานครบเทอมตามเป้าหมายที่วางไว้ หลายฝ่ายประเมินแนวโน้มว่าเป็นไปได้ยาก กับปัญหาต่างๆ ประเดประดังเข้ามา จากนี้ไปต้องนับถอยหลังรอว่า 'พล.อ.ประยุทธ์' จะใช้ช่วงเวลาใดชิงความได้เปรียบทางการเมืองประกาศยุบสภา