โควิดสายพันธุ์ใหม่ ปรับแผนรับมือให้ทัน
การพึ่งพาวัคซีน 2 ยี่ห้อ เป็นหลักในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีการตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพการรับมือกับเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ระดับไหน
การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 ยังเดินหน้าต่อในอัตราที่สูงจนทำให้การระบาดระลอกนี้ที่นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 ถึงวันที่ 21 มิ.ย.2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมไปแล้วถึง 187,829 คน และทำให้บางประเทศประกาศห้ามผู้ที่ดินทางจากประเทศไทยเข้าไป จากเดิมที่การเดินทางจากประเทศไทยเคยได้รับการถูกยกเว้นการกักตัว เพราะมีการควบคุมการระบาดได้ดีจนกระทั่งมาถึงการระบาดระลอกที่ 3 นับตั้งแต่ 2 เดือนที่ผ่านมา
สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยมีความน่ากังวลเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่มีสายพันธุ์ของไวรัสกลายพันธุ์ระบาดในหลายประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยการระบาดในประเทศไทยขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อัลฟาหรือสายพันธุ์อังกฤษ ในขณะที่สายพันธุ์เดลตาหรือสายพันธุ์อินเดียมีการระบาดในลำดับรองลงมา ซึ่งเป็นการพบการระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างเพิ่มมากในหลายพื้นที่ และสายพันธุ์เบตาหรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เริ่มมีการระบาดในพื้นที่จังหวัดภาคใต้แล้วและเริ่มพบคลัสเตอร์ใหม่ของสายพันธุ์นี้
การที่ประเทศไทยพึ่งพาวัคซีนหลัก 2 ยี่ห้อ คือ วัคซีนซิโนแวคที่เริ่มฉีดเป็นครั้งแรกในประเทศไทยมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 และมีการนำเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในรูปแบบการสั่งซื้อและการรับบริจาคจากประเทศจีน และวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่มีการผลิตในประเทศไทย รวมทั้งส่วนหนึ่งนำเข้ามาจากฐานการผลิตของแอสตร้าเซเนก้าในเอเชีย การพึ่งพาวัคซีน 2 ยี่ห้อ เป็นหลักในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีการตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพการรับมือกับเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ระดับไหน
เป็นเรื่องดีที่ภาครัฐเปิดให้มีการนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งล่าสุดได้มีการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มล็อตแรก 1 ล้านโดส เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2564 และในอนาคตจะมีการนำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่นเพิ่มขึ้นมาอีก เช่น วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนสปุตนิก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นในการรับมือกับไว้รัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ แต่วัคซีนส่วนใหญ่ที่ยังเป็นวัคซีนซิโนแวคและวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าก็ยังเป็นความเสี่ยงหากวัคซีน 2 ยี่ห้อรับมือบางสายพันธุ์ไม่ได้
ในขณะที่การควบคุมการระบาดเชื่อว่าศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการเชื้อไวรัสแต่ละสายพันธุ์ แต่ส่วนที่สำคัญอยู่ที่การปรับแผนการรับมือแต่ละสายพันธุ์ให้ทันท่วงที โดยกรณีสายพันธุ์เบตาที่มีข้อเสนอให้มีการกักตัวอย่างน้อย 21-30 วัน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยที่ภาครัฐจะต้องให้ความร่วมมือกับสังคมด้วย เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการปรับแผนรับมือโควิด-19 ที่การระบาดในประเทศไทยอยู่ระดับรุนแรง