เปิดแถลงการณ์ 'ราษฎร' ยื่น 3 ข้อเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญได้ทุกมาตรา-ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง-ยกเลิก ส.ว.
เปิดแถลงการณ์ "ราษฎร" ยื่น 3 ข้อเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญได้ทุกมาตรา-ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง-ยกเลิก ส.ว. ด้าน "สิระ" เจอมวลชนโห่ไล่
วันที่ 24 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ว่าภายหลังผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงอาคารรัฐสภาเมื่อเวลา 13.40 น.ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปักหลักหาพื้นที่นั่งชุมนุมบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา แยกถนนเกียกกาย ตลอดแนวถนนทหารถึงหน้าวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ซึ่งก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางเข้ามาอ่านประกาศในสภานการณ์ฉุกเฉิน และข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรครวมถึงได้เจรจากับการ์ดผู้ชุมนุมเพื่อให้จัดกิจกรรมภายในรั่วเหล็กริมทางเท้าเท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับการจราจรในพื้นที่
ด้านนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำคณะราษฎรให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการต่อสู้ตามสถานการณ์ เพราะเราต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน ที่สามารถแก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา นอกจากนี้สถานการณ์ที่เกิดสะท้อนแล้วว่า ระบอบประยุทธ์เสื่อม โดยแนวร่วมจะโค่นระบอบประยุทธ์ และในปีนี้ยืนยันจะนำพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกไปให้ได้ โดยเชื่อว่าไม่เกินต.ค.นี้ เพราะกลุ่มที่เคยสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ก็ยังออกมาขับไล่
จากนั้นมีตัวแทน ส.ส.จากฝ่ายค้าน และรัฐบาล อาทิ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล น.ส.เบญจา แสงจันทร์ นายรังสิมันต์โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เดินทางออกมาจากอาคารรัฐสภา เพื่อมารับจดหมายเปิดผนึกจากแกนนำกลุ่มราษฎร โดยเฉพาะนายสิระได้ถูกผู้ชุมนุมตะโกนไล่ด้วยความไม่พอใจจนนายสิระรีบลงจากเวทีเพื่อเดินกลับเข้าสู่รัฐสภา ได้เกิดเหตุชุลมุนเล็กน้อยโดยกลุ่มมวลชนกลุ่มราษฎรได้ตะโกนขับไล่และนำน้ำมาสาดใส่นายสิระ ทำให้การ์ดต้องห้ามไว้เพื่อนำต้วนายสิระเข้าไปอาคารรัฐสภาโดยเร็ว
ต่อมานายพริษฐ์ และน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำคณะราษฎร ได้เป็นตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าไปในสภาเพื่อยื่นหนังสือเปิดผนึก 89 ปีอภิวัฒน์สยาม ซึ่งในหนังสือมีเนื้อหาระบุว่า เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันครบรอบ 89 ปีที่คณะราษฎรได้ก่อการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 ขึ้นเพื่อยุติการปกครอง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เริ่มต้นการปกครองระบอบประชาธิปไตย และก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อประกาศว่า อำนาจสูงสุดในประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย จากเดิมที่ราษฎรไม่มีโอกาสสิทธิเสียงหรืออำนาจใดๆ ในการเมือง การปกครอง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของราษฎรจากไพร่ข้าเป็นเจ้าของประเทศ มีสิทธิมีเสียงทางการเมือง และสามารถมีกระดูกสันหลังเหยียดตรง ไม่จำเป็นต้องหมอบกรานตามที่เป็นมาในระบอบเก่า
ด้วยความสำคัญแห่งรัฐธรรมนูญที่ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดขึ้น ผองราษฎรทั้งหลายจึงได้ ร่วมกันยื่นหนังสือฉบับนี้เพื่อสืบสาน รักษาและต่อยอดเจตนารมณ์คณะราษฎรที่ว่า "อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร" การแก้ไขหรือจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปโดยให้ราษฎรเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มิใช่เพื่อผลประโยชน์ หรือความพึงพอใจของผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น โดยราษฎรขอแสดงจุดยืนดังต่อไปนี้
1.รัฐธรรมนูญพึงเป็นของประชาชน การแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่นั้น จะต้องกระทำผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร .) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด
2.รัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของเผด็จการประยุทธ์และคณะ บทบัญญัติใดที่เอื้อให้เกิดการสืบทอดอำนาจอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น อำนาจของวุฒิสภาและองค์กรอิสระต่างๆ จะต้องถูกยกเลิก
3.การแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่นั้น จะต้องร่างหรือแก้ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา ไม่มีข้อยกเว้นรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ พึงเป็นสมบัติของราษฎรทั่วไป มิใช่ของส่วนตัวที่สงวน ให้ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง การแก้ไข ปรับปรุง หรือจัดทำขึ้นจะต้องเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยและเจตจำนงของราษฎรหมู่มาก หากรัฐธรรมนูญฉบับใดมิได้ยึดโยงอยู่กับราษฎร และมิได้เคารพหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร ถือว่าเป็นอันใช้ไม่ได้ในฐานะรัฐธรรมนูญ