ธุรกิจฟิตเนส ยื่น 5 ข้อ เรียกร้อง 'นายกฯ' ช่วยเหลือ
กลุ่มธุรกิจฟิตเนสร้อง ปริญญ์-ปชป. ประสานยื่นข้อเรียกร้องถึง นายกฯ-ศ.บ.ค. หลังถูกสั่งปิดแบบเหมารวมไร้การเยียวยา
3 ก.ค.2564 นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ นำกลุ่มตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจสถานออกกำลังกายและฟิตเนส และนักกีฬาทีมชาติ เข้าพบนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ผู้แทนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องถึงฝ่ายบริหารของภาครัฐให้เร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจออกกำลังกาย หลังมีคำสั่งปิดสถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส และสถานที่ฝึกซ้อมกีฬาของนักกีฬาทีมชาติในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มานานกว่า 200 วัน
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจสถานออกกำลังกาย ฟิตเนส และสถานฝึกซ้อมกีฬา เป็นกลุ่มที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในช่วงวิกฤตโควิด – 19 เป็นอย่างดี โดยเป็นธุรกิจแรก ๆ ที่ต้องปิดกิจการตามมาตรการรักษาความปลอดภัย แต่กลับเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะเปิดให้บริการตามปกติได้ ทำให้ธุรกิจที่กำลังจะฟื้นตัวต้องล้มลงอีกครั้ง ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องทางการเงิน พนักงานขาดรายได้เลี้ยงชีพ หลายส่วนต้องตกงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งความเดือดร้อนในครั้งนี้ยังได้ส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มนักกีฬาทีมชาติไทยประเภทต่าง ๆ ด้วย
เพราะเมื่อสถานฝึกซ้อมกีฬาขนาดใหญ่อย่างการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ถูกสั่งปิด ก็ทำให้นักกีฬาขาดสถานที่พัฒนาตนเอง อาจส่งผลร้ายต่อการแข่งขันกีฬาในนามของประเทศได้ อีกทั้งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้นได้ด้วย ทางพรรคประชาธิปัตย์เข้าใจดีถึงความเดือดร้อนดังกล่าว และเห็นใจประชาชนทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ จึงเดินหน้าประสานงานกับนายกรัฐมนตรีและศบค. ให้ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจการออกกำลังกายฯ ได้มีโอกาสยื่นจดหมายเปิดผนึกข้อเรียกร้องถึงภาครัฐ เพื่อปลดล็อกกิจการ รวมทั้งร่วมหารือถึงแนวทางที่เป็นไปได้เพื่อให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาที่เหมาะสม
ซึ่งในครั้งนี้ได้พากลุ่มตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจสถานออกกำลังกายฯ ไปยื่นข้อเรียกร้องกับพลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาสมช. และผอ. ศบค. ก่อน แล้วจึงไปยื่นข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี โดยได้รับการยืนยันจากพลเอกณัฐพลแล้วว่าจะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวไปหารือและพิจารณาในที่ประชุมของศบค. ต่อไป โดยพล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า “ยินดีรับฟังข้อเสนอและจะไปหารือในการประชุม ศ.บ.ค.ว่าจะสามารถมีมาตรการช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง พร้อมกับจะให้ความสำคัญในการเร่งการพิจารณาให้ กกท. สามารถเปิดพื้นที่ให้นักกีฬาทีมชาติเข้าซ้อม” ทั้งนี้มีนักกีฬาทีมชาติมาร่วมร้องเรียนอาทิเช่น นางสาวเจนจิรา แจ่มดี นายฤทธิชัย เรียมกุญชร นายธนพิพัฒน์ จันทนเสวี นางสาว นภัสนันท์ หัวรักกิจ และนาย ทศพล ชื่นชม
ด้านนายธันย์ปวัฒน์ เตชภูวดลวิทิต ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจการออกกำลังกายฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า คำสั่งปิดกิจการส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบอาชีพธุรกิจสถานออกกำลังกาย รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในวงการทั้งระบบ ที่ไม่ใช่แค่ธุรกิจของเรา แต่ยังลงลึกไปถึงอาชีพ รปภ. แม่บ้าน และคนทำอุปกรณ์ออกกำลังกายด้วย ซึ่งบางส่วนเป็นกลุ่มอิสระที่รับค้าจ้างรายวัน มานานกว่า 200 วันแล้ว วันนี้ทุกคนกำลังจะแย่ เพราะไม่มีเงินแต่มีครอบครัวที่ต้องดูแล ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระทุกอย่าง อีกทั้งยังมีเทรนเนอร์ หรือแม้แต่นักกีฬาทีมชาติ ที่ไม่มีสถานที่ฝึกซ้อม ก็ได้รับผลกระทบกันไปหมด แล้วจะทำชื่อเสียงให้กับประเทศได้อย่างไร จึงอยากขอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือ ดังนี้
1. ยกเลิกคำสั่งปิดกิจการแบบเหมารวม เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีคนติดเชื้อโควิดจากสถานออกกำลังกายน้อยมาก และสถานออกกำลังกายถือเป็นจุดสำคัญที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย ทำให้คนสุขภาพดีขึ้น โดยควรให้ปิดเฉพาะสถานประกอบการที่พบผู้ติดเชื้อหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลา 14 วัน และหากสถานประกอบการใดที่พบผู้ติดเชื้อ ก็ต้องมีการทำความสะอาดสถานที่ตามมาตรฐานของกรมอนามัยและกรมควบคุมโรค
2. ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกให้ธุรกิจสถานออกกำลังกายแสะฟิตเนสสามารถกลับมาเปิดบริการได้ภายในวันที่ 1 ส.ค.2564 ภายใต้มาตรการป้องกันโรคตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข เช่น การเว้นระยะ การจำกัดจำนวนคน และความสะอาด เป็นต้น
3. พิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยเร็วที่สุด ซึ่งภาครัฐสามารถถือเอาโอกาสนี้เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ในอนาคต
4. พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการพักชำระหนี้/การกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อรักษาสภาพคล่องธุรกิจและการจ้างพนักงานจากการปิดธุรกิจชั่วคราว รวมถึงส่วนลดหรือเลื่อนชำระค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ตลอดจนลดหย่อนภาษีรายได้ส่วนบุคคลของผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับสถานออกกำลังกายและฟิตเนส
5. เปิดช่องทางการสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการประชาชนที่เดือดร้อน เพื่อให้ทราบถึงมุมมอง ผลกระทบ ความยากลำบากของผู้ประกอบอาชีพในกลุ่มต่าง ๆ ก่อนที่ภาครัฐจะออกมาตรการต่างๆ