ตรวจอาการรัฐบาล 'โคม่าคงที่' ตรึง 'ทีมกองทัพ' แนวรบโควิด
เมื่อ 'โควิด' ระลอกสามยังไม่ลด ระลอกสี่สายพันธุ์เดลตาก็มาจ่อคอหอยอยู่รอมร่อ คงต้องจับตา ศบค.ชุดใหญ่ จะเคาะ 'ล็อกดาวน์' หรือ 'เซมิล็อกดาวน์' ทั้งประเทศ หรือเฉพาะ กทม. ปริมณฑล และ 4 จชต.
เวลานี้ “แค่หายใจก็ผิด” สำหรับสถานการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังเผชิญอยู่ ขนาดหวังดีอยากช่วยระงับเพลิงไหม้โรงงานเคมี ย่านกิ่งแก้ว สมุทรปราการ ด้วยการสั่งทำฝนหลวง แต่กลับถูกด่าขรมว่าไม่ศึกษาข้อมูล เพราะนอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังทำให้เกิดการปนเปื้อน จนเป็นที่มาของการระงับคำสั่ง
เช่นเดียวกับการเปิดโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็มีแต่เสียงวิจารณ์ในด้านลบว่า เสี่ยง“โควิด-19” ระบาด แต่ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังเดินหน้าต่อ พร้อมๆ กับดราม่าคำกล่าวเปิดงานที่นิยามคำว่า “แซนด์บ็อกซ์” เป็น “ปราสาททราย” จนถูกชาวเน็ตท้วงติงว่าไม่ถูกต้อง และความหมายไม่ดี
ก่อนจะตบท้ายด้วยการโชว์ภาพรับประทานอาหารร่วมกับคณะ แบบชิลล์ๆ ริมทะเล ปราศจากแมสก์ และเว้นระยะห่าง แหวกมาตรการห้ามรวมตัว ของ ศบค.ตามที่ประกาศไว้จนกลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด “โควิด-19” ของพล.อ.ประยุทธ์ที่ถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพ คะแนนนิยมที่เคยพุ่งปรี๊ดในช่วงต้น กลับดิ่งลงเหวนับตั้งแต่เกิดการระบาดระลอกสามเมื่อเดือนเมษายนต่อเนื่องมาเรื่อยๆ
จนสถานการณ์เรียกว่าโคม่าแบบคงที่มาหลายเดือน และมีแนวโน้มปะทุเป็นระยะๆ เพราะในขณะที่การระบาดระลอกสาม ยอดผู้ติดเชื้อไม่ลด ระลอกสี่สายพันธุ์เดลตาก็มาจ่อคอหอยอยู่รอมร่อ ส่วนการ “ล็อกดาวน์” หรือ “เซมิล็อกดาวน์” แบบทั้งประเทศ หรือเฉพาะ กทม. ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงต้องลุ้นกันวันที่ 9 ก.ค.นี้
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จะประชุม ศบค.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณามาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้ยกระดับมาตรการทางสังคม ทั้งจำกัดการเดินทาง อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ไม่ออกจากเคหสถาน เว้นไปหาอาหาร พบแพทย์ และฉีดวัคซีน ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และปิดสถานที่เสี่ยงทั้งหมดที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน
มากันที่ “วัคซีน” ที่เป็นเกราะป้องกันชั้นดีจากโควิด-19 ก็ฉุดเรตติ้งพล.อ.ประยุทธ์ไปมากโขกับข้อครหานำเข้าล่าช้า และล็อกเพียง 2 ยี่ห้อ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ที่ลงทะเบียนกันไว้ก็ยังไม่ได้ฉีด ที่ฉีดไปแล้วก็กังวลเรื่องประสิทธิภาพที่มีจำกัด ไม่ครอบคลุมสายพันธุ์เดลตา
จึงได้เห็นปรากฎการณ์ประชาชนแห่จองวัคซีนทางเลือกแบบควักเงินจ่ายเองจากสถานพยาบาล ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็เต็มโควตา ยิ่งตอกย้ำความไม่เชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์ ในขณะเดียวกัน “กลุ่มหมอไม่ทน” ก็เรียกร้องให้นำเข้าวัคซีน mRNA (ไฟเซอร์และโมเดอร์นา) ให้ได้เร็วที่สุด
ในขณะที่ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก เมื่อหัวหอกสู้ศึกโควิด-19 “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” เลขา สมช. ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. ทำหน้าที่กลั่นกรอง เสนอแนะและบูรณาการทำงานแก้ปัญหา ‘โควิด-19’ จะเกษียณอายุราชการในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ก็คาดหมายกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงเลือก “ทหาร” เข้ามานั่งตำแหน่งสำคัญนี้ แม้จะไม่รู้มือรู้ใจกันเท่า “พล.อ.ณัฐพล” แต่อย่างน้อยให้สามารถเป็นตัวกลางเชื่อมต่อไปยัง “กองทัพ” เพราะส่วนตัวแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้สนิทแนบแน่นกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.คนปัจจุบันมากนัก เพราะรุ่นที่ห่างกันถึง 10 รุ่น (ตท. 12 กับ ตท. 22 )
และด้วยหน้าที่ต้องสวมหมวกหลายใบ ทำให้ที่ผ่านมา พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็ไม่ได้ร่วมประชุมสภากลาโหมที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน เพราะติดภารกิจพิเศษ และงานพิธีของกองทัพบก จึงทำได้เพียงส่งผู้แทน ระยะห่างระหว่างนายกฯ และ ผบ.ทบ. จึงมีให้เห็น
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพิงกองทัพไว้สู้ศึกกับโควิด-19 เพื่อขับเคลื่อนงานแทนส่วนราชการอื่นที่อาจทำงานไม่ได้ดั่งใจ จึงคาดการณ์ว่า “พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์” เสนาธิการทหารบก ตท.20 เพื่อนรัก พล.อ.อภิรักษ์ คงสมพงษ์ รองราชเลขาสำนักพระราชวัง คือเป้าหมายจะถูกเลือกมานั่งเก้าอี้ เลขา สมช.
สำหรับ “พล.อ.ณัฐพล” อาจได้รับการร้องขอ ให้มาอยู่ในทีมที่ปรึกษา เป็นมือประสานงานแก้ปัญหาโควิด-19 ที่ลากยาวไปถึงปีหน้า เพราะในภาวะขับขัน เรตติ้งตก ทำอะไรก็โดนด่า การรักษามือดี คนทำงานเอาไว้ อาจสามารถกู้วิกฤติ พล.อ.ประยุทธ์ ให้กลับมายืนหยัดได้อีกครา