'ล็อกดาวน์' เมือง ล็อกดาวน์ ข้อมูลข่าวสาร เมื่อ พ.ร.ก.ผิดฝาผิดตัว !?
ย้อนดู ประกาศ "ล็อกดาวน์" เมือง ที่ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องของการลิดรอนสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเผยแพร่ข้อเท็จจริงแม้จะนำไปสู่ความหวาดกลัวหรือไม่
จากกรณีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 27 ระบุเรื่องการเผยแพร่ข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ นำไปส่การตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดเช่นนี้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารหรือไม่
เรื่องนี้หากย้อนกลับไปที่คำสั่งนายกฯ ประกาศล็อกดาวน์ วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา รายละเอียดข้อหนึ่งที่ถูกประกาศออกมาในฉบับเดียวกันก็คือ ข้อ 11 ว่าด้วยเรื่องของ มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
โดย iLaw ได้ออกมาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในวันดังกล่าวว่า “ใช้วันนี้! ข้อกำหนดใหม่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามโพสต์สร้างความหวาดกลัวแม้เป็นความจริง โทษ 2 ปี ปรับ 40,000 บาท ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 27 ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แก้ไขฉบับที่ 1 ในเรื่องข้อห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ขยายองค์ประกอบความผิดให้กว้างออก ห้ามการโพสต์ข้อความให้ประชาชนหวาดกลัวแม้จะเป็นความจริงก็ผิด เพิ่มไปห้ามข้อความบิดเบือนที่ “กระทบความมั่นคงของรัฐ” และไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่เตือนให้แก้ไขก่อน
หลังจากนั้น วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณีดังกล่าวโดยยืนยันว่า กรณีข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่มีการตั้งคำถามว่า หากนำเสนอข้อเท็จจริง จนทำให้เกิดความหวาดกลัวจะถือว่ามีความผิดหรือไม่นั้น หากเสนอข่าวข้อเท็จจริงไม่ถือว่ามีความผิด
รวมทั้งกรณีของการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่รองนายกรัฐมนตรีให้คำตอบว่า ข้อความดังกล่าวคัดลอกมาจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพก็ขัดรัฐธรรมนูญตั้งแต่ตอนออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว
หากย้อนกลับไปดู เนื้อหาในข้อ 11 ของประกาศฉบับดังกล่าวก็จะพบว่า เป็นการอ้างอิงจาก ความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกําหนด กํารบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมาตรา9 (3) ระบุไว้ว่า …ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร
ทั้งนี้ มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูคำสั่งนายกฯ เมื่อ 25 มีนาคม 2563 ซึ่งตอนนั้น มีการคำสั่ง ล็อกดาวน์ และ เคอร์ฟิว ตามมาด้วยนั้น ก็มีคำสั่ง ข้อห้าม ข้อกำหนดว่าด้วยการรายงานข่าวเช่นกัน และดูเหมือนกำหนดโทษ จะรุนแรงกว่าครั้งนี้ เพราะนอกจากบทลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วยังมีบทลงโทษ เกี่ยวเนื่อง พ.ร.บ.ด้วยการกระทําความผิดเก่ียวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ มาตรา 52 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หรือมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542แล้วแต่กรณีด้วย
ถึงอย่างนั้น ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ได้ให้สัมภาษณ์กับ รายการเจาะลึกทั่วไทยโดยตั้งข้อสังเกตว่า มาตรา 9 (3) นั้นเป็น พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ออกประกาศใช้กับสถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคง หรือ สงคราม ไม่ใช่ภาวะการจัดการโรคระบาดอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหากย้อนกลับไปดูจะเห็นว่า ที่ผ่านมา การออกข้อกำหนดแต่ละครั้งไม่ได้มีกระบวนการที่ชัดเจน ประกาศฉบับนี้จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่การเอาประกาศในภาวะความมั่นคงสงคราม มาใช้กับโรคระบาดก็สะท้อนความไม่เหมาะสมของการจัดการที่เห็นได้ชัดอยู่