'กมธ.ปราบโกง' จ่อสอบ 'พล.อ.อนุพงษ์' พักบ้านหลวง หลังมีข้อมูล เทียบเคียงกับ 'พล.อ.ประยุทธ์'

'กมธ.ปราบโกง' จ่อสอบ 'พล.อ.อนุพงษ์' พักบ้านหลวง หลังมีข้อมูล เทียบเคียงกับ 'พล.อ.ประยุทธ์'

"กมธ.ปราบโกง" เจอข้อมูล "รมว.มหาดไทย" พักบ้านหลวง เทียบเคียง กรณี "พล.อ.ประยุทธ์" จ่อขอมติเพื่อสอบต่อ ด้านการสอบนาฬิกาหรู พบคนรับเป็นเจ้าของ เสียภาษีนำเข้า 18ล้านบาท

       นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลประชุมต่อการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลปัจจุบัน 3 เรื่องสำคัญ ว่า  กรณีการเข้าพักในราชการทหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จากการับฟังคำชี้แจงของตัวแทนหน่วยงานทหาร ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พล.อ.อนุพงษ์​ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เข้าพักในบ้านหลวงซึ่งเข้าข่ายเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นในการประชุมนัดหน้า กมธ.ฯ จะหารือต่อประเด็นดังกล่าวว่า จะขยายผลการตรวจสอบ พล.อ.อนุพงษ์ ด้วยหรือไม่ หรือจะขอข้อมูลจากส่วนราชการใดก่อนที่จะสรุปเป็นมติว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่
        นายธีรัจชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับการตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร วงษ์ สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ถือครองนาฬิกาหรู  เบื้องต้นผู้ที่เชิญมาชี้แจงขอเลื่อนเนื่องจากกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 แต่ในข้อมูลเบื้องต้นที่กมธ. ได้รับ คือการสืบหาต้นตอขอนาฬิการหรูที่ต้องผ่านการนำเข้า และชำระค่าภาษีผ่านทางศุลกากร โดยมีรายละเอียดคือ ผู้ที่รับว่าเป็นเจ้าของนาฬิกานั้น ได้รับมาจากพ่อของเพื่อน และมีค่าภาษี จำนวน 18 ล้านบาท  
         "ส่วนการตรวจสอบการทุจริตเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นนั้น กมธ.ฯ ได้ตรวจสอบเส้นทางของการฟอกเงิน ซึ่งเป็นคนละกรณีที่มีประชาชนแจ้งความดำเนินคดีและฟ้องศาลขอนแก่น ดังนั้นกมธ.ฯ จึงสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ในรายละเอียดทราบว่า ปปง. จะดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนภาในเดือนกันยายน นี้ ดังนั้นกมธ.ฯ จะรอรายละเอียดอีกครั้ง" นายธีรัจชัย กล่าว
 
 

      นายธีรัจชัย ยังกล่าวกรณีการตรวจสอบร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่กมธ.เคยพิจารณาต่อเนื่องมา โดยเชิญอดีตปลัดกรวงการต่างประเทศ ช่วงปี 59 – 63 และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คนปัจจุบันมาสอบถามเกี่ยวกับการประสานข้อมูลไปยังออสเตรเลีย ในการขอคำพิพากษาศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ โดยได้รับการชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศเคยสอบถามไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงแคนเบอร์รา และสามารถขอสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงด้วยการทำหนังสือไปขอได้เลย ส่วนศาลอุทธรณ์จะต้องมีการกรอกตามแบบฟอร์มคำขอ พร้อมกับชี้แจงว่าเคยสอบถามข้อมูลไปยังร.อ.ธรรมนัส แต่ไม่ได้รับคำตอบจึงไม่สามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ กมธ.ป.ป.ช.ยังเคยได้รับหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศ ในปี 40 ที่ส่งคดีร.อ.ธรรมนัส มายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แสดงว่ากระทรวงการต่างประเทศ มีข้อมูลร.อ.ธรรมนัสอยู่แล้ว โดยป.ป.ส.ได้มาชี้แจง และแนบเอกสารดังกล่าวให้กมธ.ป.ป.ช. ซึ่งมีเอกสาร 2 ฉบับ แต่กระทรวงการต่างประเทศกลับบอกว่าไม่มีข้อมูล จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าการปฏิบัติหน้าที่กรณีของร.อ.ธรรมนัส กระทรวงการต่างประเทศได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วนหรือไม่ ทางคณะกมธ.ป.ป.ช. จึงให้กระทรวงการต่างประเทศประสานไปยังศาลอีกครั้ง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าสามารถทำได้ แต่ไม่ได้มีการรับปากว่าจะดำเนินการให้

       "ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดศาลรัฐธรรมนูญเขียนว่าเพื่อดำเนินทางการทูตไว้ในคำพิพากษา ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้แจงในเรื่องนี้ให้ประชาชนได้ทราบ ซึ่งจะมีการสอบถามไปยังสำนักเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญว่าตามหนังสือเรียกนี้จริงหรือไม่" นายธีรัจชัย กล่าว.