เกมการเมือง'ศบค.-สธ.' ลาก'ทีมหมอ'ตัวประกัน
ท่ามกลางมหาวิกฤติโควิด “นักการเมือง” กลับไม่ใส่ใจความเป็นความตายของประชาชน นำประเด็นโรคระบาดมาเล่นการเมือง เปิดสงครามปากโต้ตอบกันชนิดไม่เห็นหัวประชาชน
“ซ้อมตาย” แบบ สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ โดยการแถลงข่าวในโลงศพ ประท้วงกรณีประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาของระบบสาธารณสุขได้ คนไทยจำนวนมากนอนรอความตายอยู่ที่บ้าน แม้กระทั่งยาฟาวิพิราเวียร์ ก็ไม่ได้กิน เพื่อปกป้องชีวิตของตัวเอง
พร้อมกันนั้น “สิระ” ยังเรียกร้องให้เปลี่ยนตัว นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ กับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้
ไม่ทันข้ามวัน ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย โทรโข่งของ “เสี่ยเน-เสี่ยหนู” ก็ตอบโต้สิระผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Suphachai Jaismut ทันที
ประเด็นหลักๆ “ศุภชัย” ก็ชี้เป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้มีอำนาจเต็มใน ศบค. และย้ำแล้วย้ำอีกว่า “หนูไม่เกี่ยว” เพราะไม่มีชื่อใน ศบค. ดังนั้น หากจะตำหนิผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องมองย้อนไปที่ ศบค.
ด้านปัญหาวิกฤติโควิดในกรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข “ศุภชัย” โยนไปที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ว่ากันตามจริง ความขัดแย้งระหว่างกรุงเทพมหานคร กับกระทรวงสาธารณสุข ก็เกิดขึ้นหลายระลอกแล้ว อย่างเช่น กรณีโครงการฉีดวัคซีน ที่ ศบค.ให้ กทม.เป็นแม่งานฉีดคนเมืองกรุง แต่ทำไปได้สักพัก วัคซีนไม่พอ เลยต้องหยุดไป คนที่ลงทะเบียนไว้นับแสนก็ถูกเท
หรือกรณี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จะแจกยาฟาวิพิราเวียร์ ให้ทุกคนที่ป่วยเป็นโควิดที่มานอนพักที่โรงพยาบาลสนาม กรุงเทพฯ ก็ถูกกระทรวงสาธารณสุขออกมาเบรก เพราะยานี้มีไว้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางหรืออาการหนักเท่านั้น
มือกฎหมายพรรคภูมิใจไทย “ศุภชัย” อ้างถึงคำสั่งที่ 6/2564 เรื่องจัดตั้ง “ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ซึ่งคำสั่งนี้ มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และผู้ว่าฯ อัศวิน ปลัดกระทรวงหลายกระทรวง เป็นรองผู้อำนวยการ
“...เป็นคณะที่ไม่มีคนดูแลระบบสาธารณสุขของประเทศเป็นกรรมการ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่นายกฯ กับ ศบค. และ กทม. ตัดกระทรวงสาธารณสุขออกจากการแก้ปัญหาโควิดในกทม. สธ.พยายามคุมเชื้อเต็มที่ แต่วันหนึ่ง นโยบาย ศบค. ซึ่งรับผิดชอบโดย เลขาฯสภาความมั่นคงแห่งชาติ ก็ไล่คนกลับไปตจว. ด้วยการปิดแคมป์คนงาน ปิดร้านอาหาร คนจนจากชนบท ที่มาหากินในเมือง ต้องกลับไปบ้านที่ต่างจังหวัด เอาเชื้อไปติดมากมาย รพ.ตจว. รับไม่ทัน รับไม่ไหว เชื้อกระจายทั่วประเทศ คุมไม่ได้”
ว่ากันตามตรง วันที่ตัดสินใจปิดแคมป์คนงาน พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียก “คณะสาธารณสุข” รวมถึงรัฐมนตรีสาธารณสุข เข้าปรึกษาหารือด้วย นายกฯประยุทธ์ ไม่ได้ตัดสินใจเพียงลำพัง ดูเหมือนศุภชัยจะย้ำอยู่เรื่องเดียวว่า “หนูไม่เกี่ยว..หนูไม่ได้เป็น ศบค.”
ถ้าย้อนไปดูช่วงเริ่มต้นการฉีควัคซีนป้องกันโควิด ต้นเดือน มิ.ย.2564 กระทรวงสาธารณสุข จับมือกระทรวงคมนาคม เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ โดย “หมอหนู” วางแผนให้มีการฉีดวอล์คอินได้
ต่อมา “นายกฯบิ๊กตู่” เบรกสาธารณสุขไม่ให้มีการฉีดวอล์คอินที่สถานีกลางบางซื่อ พร้อมกับให้จัดสรรวัคซีนไปให้ กทม. และประกันสังคม ช่วยกระจายกันฉีดวัคซีนแก่ประชาชนทุกกลุ่ม แผนกระจายวัคซีน “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย” ของ กทม. เปิดให้ผู้ที่มีอายุ 18-59 ปี ลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนเพิ่มจากระบบหมอพร้อม ผ่านจุดบริการ 25 จุด ถูกมองว่า เป็นเกมหาเสียงทางการเมืองของผู้ว่าฯ อัศวิน
ทำนองเดียวกัน ศูนย์ฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ ก็หนีไม่พ้นว่าเป็นการสร้างผลงานของพรรคภูมิใจไทย เมื่อกระจายฉีดวัคซีนไปได้ไม่นาน เกิดปัญหาวัคซีนขาดแคลน จึงมีการเบรกแผนการฉีดของ กทม. โดยให้ศูนย์ฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ เป็นจุดบริการแห่งเดียว นอกจากนี้ ยังเปิดให้ผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป เข้ามารับบริการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 โดยระบบบริการแบบออนไซต์
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงใน กทม. โครงการฉีดวัคซีน “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย” ก็กลับมาบริการอีกครั้ง โดยกระทรวงสาธารณสุข จัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 5 แสนโดส มาให้ กทม. ช่วยบริการฉีดให้กับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
แถมก่อนหน้านั้น มีคนปล่อยข่าวว่า กทม.ได้วัคซีนมา 1.3 ล้านโดส แต่ยังไม่ได้ฉีดให้ประชาชน ปลัด กทม. ต้องออกมาให้ข่าวว่า ได้รับการจัดสรรวัคซีน เพียง 5 แสนโดส เท่านั้น
ท่ามกลางมหาวิกฤติโควิด “นักการเมือง” กลับไม่ใส่ใจความเป็นความตายของประชาชน นำประเด็นโรคระบาดมาเล่นการเมือง เปิดสงครามปากโต้ตอบกันชนิดไม่เห็นหัวประชาชน
ที่โดนหางเลขเต็มๆ แบบเลี่ยงไม่ได้ ไม่พ้นข้าราชการสาธารณสุข โดยในวงประชุมคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ และไอซีที ในคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 เมื่อ 21 ก.ค. ที่มีวาระพิจารณางบประมาณของกรมควบคุมโรค โดยมี
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.กับ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าชี้แจง
หากไม่มีประเด็นร้อนวัคซีน ปลัด และอธิบดี อาจไม่ถูกรุมซักฟอกหนักถึงประเด็นจัดซื้อแต่วัคซีนซิโนแวค พร้อมทั้งขอให้เปิดเผยเอกสารสัญญา ราคา จำนวนซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อไม่ได้คำตอบลึกไปกว่าที่เคยเปิดเผย ทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล ก็ฟาดไปยัง “เสี่ยหนู” ให้เปลี่ยนตัวข้าราชการบูชายัญแทน
จะว่าไปแล้ว ก่อนมาตรการล็อกดาวน์เพิ่ม 13 จังหวัด ช่วงเย็นวันที่ 19 ก.ค.2564 วงประชุม ศบค.ไม่เป็นทางการ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียก อนุทิน ชาญวีรกูล และ “คณะสาธารณสุข” มาหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบฯ เพื่อสั่งการหลายประเด็น
ทีมความมั่นคงของนายกฯ ฝากความหวังในการกู้วิกฤติโควิด และวิกฤติการเมืองไว้กับ "ทีมหมอ" เพราะการเมืองถอยฉากออกมายืนระยะห่าง จากเหตุที่ประชาชนไม่เชื่อมั่น ทว่านักการเมืองด้วยกันเอง กลับกำลังลากทีมหมอที่พึ่งสุดท้ายไปเป็น“ตัวประกัน” เพื่อเอาชนะกันในเกมการเมือง