นายกฯ พระราชทาน ปลุกม็อบ-สกัด'อภิมหาดีล'
ข่าวลือ "นายกฯพระราชทาน" เวลานี้ ไม่ได้หยุดอยู่ที่การ "ไม่เอาประยุทธ์" หากแต่ยังลามไปถึง กระแส"อภิมหาดีล" สำคัญอีกด้วย
แฮชแท็ก#..ู.ไม่เอานายกพระราชทาน พุ่งติดเทรนด์บนทวิตเตอร์ ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ต้นสายปลายเหตุของแฮชแท็กดังกล่าว เกิดขึ้นหลังผู้ใช้ทวิตเตอร์ @DuangritBunnag หรือ ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง ได้โพสต์ในช่วงดึกของวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า “ลูกน้องเตรียมบอกลาประยุทธ์ได้เลย”
จากนั้น มีความพยายามโยงไปที่ กระแสความนิยมของ “รัฐบาลประยุทธ์” ที่เวลานี้กำลังอยู่ในสภาวะขาลงจากการบริการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อาจลาออกจากตำแหน่ง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นการเปิดทางสู่ การแต่งตั้ง “นายกพระราชทาน” ขึ้นมา
สอดรับกับท่าที “คณะก้าวหน้า” ที่พยายามจุดกระแสในเรื่องนี้ผ่านข้อเขียนเรื่อง “บทเรียนนายกพระราชทาน ข้อเสนอที่ทำลายกระบวนการประชาธิปไตย”
เนื้อหาตอนหนึ่ง ระบุถึงกลไกตามรัธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 วรรคสอง เปิดทางให้มี "นายกรัฐมนตรีนอกบัญชี" ได้ โดยต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสองสภาในการเสนอเรื่อง และเสียง 2 ใน 3 ของสองสภาในการมีมติยกเว้น และกึ่งหนึ่งของสองสภาในการมีมติเลือกนายกรัฐมนตรี
“ก้าวหน้า” ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อต้องใช้เสียงมากถึงกึ่งหนึ่งของสองสภาและ 2 ใน 3 ของสองสภาเช่นนี้ ต้องมีปัจจัยใด ที่จะทำให้ได้เสียงมากขนาดนี้ คนๆ นั้นต้องมีลักษณะแบบใดถึงจะได้คะแนนเสียงขนาดนี้ ใครที่จะทำให้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.สมัครสมาน ลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกันได้ จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา คงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่า นี่คือการติดตั้ง “นายกพระราชทาน”ไว้ในรัฐธรรมนูญเรียบร้อย...
“นอกจากนั้นข้อเสนอดังกล่าวยังตรงกันข้ามจากข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของบรรดาเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อให้พระมหากษัตริย์ปลอดพ้นจากการเมือง” คณะก้าวหน้าระบุ
ทว่าหากอ่าน “ข้อเขียน” ดังกล่าวโดยละเอียด จะเห็นว่า “คณะก้าวหน้า” พยายามปั่นกระแสเน้นย้ำจุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญ และการทำให้สถาบันปลอดจากการเมือง
“ตอกย้ำ” ไปถึง 3 ข้อเรียกร้องของ “ม็อบ 3 นิ้ว” ไม่ว่าจะเป็นการที่ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก การแก้รัฐธรรมนูญ หรือการปฏิรูปสถาบันพระมาหากษัตริย์ อันเป็นหัวใจสำคัญในการดันเพดานตามที่ม็อบ 3 นิ้วพยายามย้ำนักย้ำหนา