รัฐต้อง ‘จบ’ วิกฤตินี้ให้ได้

รัฐต้อง ‘จบ’ วิกฤตินี้ให้ได้

การล็อกดาวน์ 29 จังหวัดเป็นเวลา 2 เดือน จะกระทบมูลค่าเศรษฐกิจถึง 5 แสนล้านบาท ขณะที่การเร่งฉีดวัคซีนโควิดยังคงล่าช้า หากรัฐบาลยังจบวิกฤตินี้ไม่ได้ ประเทศไทยอาจก้าวลงสู่หุบเหวเบื้องหน้าเร็วขึ้นกว่าที่คิด

ยอดผู้ติดเชื้อ ยอดคนตายจากโควิด-19 ที่ทำนิวไฮทุกวัน จากร้อยเป็นพันจากพันทะลุเป็น 2 หมื่นและกำลังพุ่งต่อไม่อยู่ กำลังฉุดให้ประเทศไทยก้าวลงสู่หุบเหวที่รออยู่เบื้องหน้าเร็วขึ้นกว่าที่คาด มาตรการล็อกดาวน์ ที่เหมือนไม่ล็อกดาวน์ แทบจะไม่มีผลใดๆ ในการหยุดเชื้อ

มองไปที่ “ทางรอด” เดียวอย่างการเร่งฉีดวัคซีนก็ยังล่าช้า ไม่รวดเร็ว วัคซีนมีไม่มากพอ เส้นทางการกระจายวัคซีนในประเทศนี้ มีความพิกล พิการ เต็มไปด้วยเงื่อนงำ ไม่โปร่งใส การบริหารจัดการแก้วิกฤติของรัฐบาลที่ไม่เปิดใจกว้างให้ภาคเอกชนที่คล่องตัวกว่ายื่นมือเข้ามาช่วยอย่างเต็มที่ หรืออาจเพราะกลัวจะเข้ามาแชร์ หรือขัดผลประโยชน์ที่ครอบครองอยู่บนความเป็นความตายของประชาชน

ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่เปิดเผยออกมาช่วงนี้ ทุกดัชนีทุบสถิติต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.ปรับตัวลดลงทุกรายการ ตามที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุ เพราะความกังวลในสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังทำเซอร์ไพรส์ได้ตลอด การกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดในหลายจังหวัด การประกาศล็อกดาวน์ และเคอร์ฟิว กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง ที่สำคัญที่สุด คือ การฉีดวัคซีนที่ทำได้ล่าช้ามาก

วิกฤติโควิดระลอกนี้ รัฐบาลกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดเพิ่มเป็น 29 จังหวัด จังหวัดในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สำคัญ เป็นตัวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศเป็นสัดส่วนถึง 80% ของจีดีพี โดยมีภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 90%

การล็อกดาวน์เป็นเวลา 2 เดือน จะกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 5 แสนล้านบาท แน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงไปอีก และอยู่ในสภาวะเปราะบางเป็นอย่างมาก เดือนส.ค. ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของเศรษฐกิจไทย รัฐต้องยับยั้งการแพร่ระบาดโควิดให้ได้

ขณะที่ภาคการส่งออกถือเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญ ที่จะฉุดไทยขึ้นจากหล่มหากต้องการให้การส่งออกเดินหน้า ต้องให้ภาคการผลิต โรงงาน ซัพพลายเชนของโรงงานได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างทั่วถึง 

วันนี้ การกระจายวัคซีนในโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่ครอบคลุม ทั้งที่เป็นกลุ่มสำคัญ ยกตัวอย่างในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลก แต่การฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ยังไม่ถึง 50% ด้วยซ้ำ ทั้งยังต้องวิ่งหาวัคซีนเพื่อฉีดให้คนงานกันอย่างทุลักทุเล เป็นกลุ่มที่ต้องการวัคซีนเพื่อฉีดพนักงานให้เร็วที่สุด ป้องกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ ที่อาจกระทบถึงสายการผลิต

และหากภายใน 1-2 เดือนนี้ สถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่คลี่คลาย วัคซีนยังไม่เพียงพอ มาตรการแก้ปัญหาของภาครัฐยังเป็นแบบทุกวันนี้ ไทยอาจต้องเสียฐานการผลิตโลกไปให้ประเทศอื่นอย่างน่าเสียดาย ถ้ารัฐยังหาทางจบวิกฤตินี้ไม่ได้ “โควิด” จะบดบังถนนแห่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และไทยจะตกอยู่ในภาวะบอนไซไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต