ล้วงลึก ‘FreeYouth’ เมื่อ ‘ซ้ายใหม่’ ไร้ยุทธศาสตร์
แกะรอย "FreeYouth" หรือ "เยาวชนปลดแอก" ที่กำลังกลายเป็นกระแสวิพากษ์กับการจัดการชุมนุมครั้งล่าสุด ที่เต็มไปด้วยคำถาม และความสงสัย หรือนี่จะเป็นก้าวที่พลาดของ "ซ้ายใหม่" ที่ไร้ยุทธศาสตร์
แม้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการอิสระที่ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส ยังอดที่จะเขียนถึง “ม็อบ 7 สิงหา” ที่จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก-FreeYouth หรือกลุ่ม Redem ไม่ได้
“ไม่ว่าเราจะประเมินอย่างไร (และมีความเป็นไปได้ ที่จะประเมินจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ตามแต่รสนิยม) การชุมนุมแบบ Redem นี้ ยากจะปฏิเสธว่า คงไม่อาจนำมาซึ่งชัยชนะได้ จะว่าไปแล้ว การชุมนุมแบบที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า (ถ้าไม่เลิกเสียก่อน) ก็ไม่อาจจะประสบความสำเร็จเช่นกัน การชุมนุมนั้น จำเป็นและมีประโยชน์ แต่ไม่อาจเป็นคำตอบเพียงนี้ได้”
“สมศักดิ์” ไม่ใช่นักวิชาการขาเชียร์ ที่ตะบี้ตะบันหนุนเด็ก โดยไม่แยกถูกแยกผิด เขาสนับสนุนสันติวิธี และไม่นิยมความรุนแรง
การเคลื่อนไหวมวลชนบนท้องถนนแบบ “ไร้แกนนำ” ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก-Free Youth ในนามกลุ่ม Redem
ตั้งแต่ต้นปี 2564 กลุ่ม Redem ได้เคลื่อนไหวครั้งสำคัญ “ม็อบ 20 มีนา” ที่สนามหลวง , “ม็อบ 28 กุมภา” ที่หน้า ร.1 รอ.ทม. วิภาวดี และ “ม็อบ 2 พฤษภา” ที่หน้าศาลอาญา รัชดา ทั้ง 3 เหตุการณ์มีการปะทะกับตำรวจ เหมือนกรณี “ม็อบ 7 สิงหา"
เหตุใดกลุ่มเยาวชนปลดแอก-Free Youth หรือกลุ่ม Redem จึงเคลื่อนไหวมวลชนลักษณะสุ่มเสี่ยง และถูกมองว่า เป็นพวกนิยมความรุนแรง
ประการแรก กลุ่ม Redem เกิดมาจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่ง REDEM ย่อมาจาก RESTART DEMOCRACY สร้างประชาธิปไตยให้เกิดใหม่อีกครั้งไปด้วยกัน โดยมีชุดความคิดสังคมนิยมเป็นธงนำ
“Redem เป็นการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตยที่คนเท่ากัน”
พวกเขาใช้สัญลักษณ์ RT ออกแบบคล้ายรูปค้อนเคียว และมีธงแดง Redem เป็นสัญลักษณ์ประจำม็อบ ดังนั้น ธงสีแดงของกลุ่ม Redem จึงพุ่งทะลุเพดาน การบุกวังในวันที่ 7 ส.ค.2564 พวกเขาแถลงชัดในเพจเยาวชนปลดแอก
“เราไม่อาจรอช้า คำนวณฤกษ์ยามท่ามกลางวิกฤตเช่นนี้ได้ การปฏิวัติโดยประชาชนหลายที่ทั่วโลก เช่น ฝรั่งเศส รัสเซีย ก็ไม่ต้องรอแม่หมอพ่อพระมาวางศิลาอันใด ขอแค่มีความกล้าหาญและศรัทธาในพลังประชาชนด้วยกันก็พอ”
สรุปว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส ,การปฏิวัติรัสเซีย และ “วันเสียงปืนแตก” เป็นโมเดลการลุกขึ้นสู้ของประชาชนผู้ไม่ยอมให้ถูกกดขี่ข่มเหง
ประการที่สอง กลุ่ม Redem เชื่อเรื่องประชาธิปไตยทางตรง ให้มวลชนร่วมกันเป็นเจ้าของม็อบ กลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้ข้อสรุป 3 ข้อคือ การต่อสู้ที่ไม่เน้นตัวบุคคล มวลชนเป็นเจ้าของร่วมกัน ภายใต้เงื่อนไขของการไม่มีแกนนำ แต่มีการจัดการจากทีมงานที่อยู่หน้างาน รวมถึงการประสานการเคลื่อนไหวกับผู้ชุมนุมผ่าน Telegram และ Facebook
พวกเขาอ้างว่า จำเป็นต้องแสวงหาวิธีใหม่ๆ ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะเผด็จการ แต่รูปธรรมของการเคลื่อนไหวแบบไร้แกนนำ จบด้วยการปะทะกับตำรวจ มวลชนบาดเจ็บ และถูกจับกุม ไม่ได้มรรคได้ผลอะไร จนพวกเดียวกัน เริ่มทนไม่ไหวต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ บทบาทของ Free Youth หรือ Redem ไม่ต่างจาก Red Guards หรือยุวชนแดง สมัยการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนแผ่นดินใหญ่
กลุ่มเยาวชนปลดแอก-FreeYouth ก่อตั้งโดย “ฟอร์ด” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และพัฒนามาเป็นกลุ่ม REDEM องค์กรเอกเทศ ไม่ได้อยู่ใต้ร่มกลุ่มราษฎร, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า และกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย
วันนี้ “ฟอร์ด ทัตเทพ” หายตัวไป แต่ก็มีเพื่อนรักทำงานเป็นแอดมินเพจเยาวชนปลดแอก-FreeYouth และคอยประสานงานกับกลุ่มต่างๆ ตัวละครเปิดของกลุ่มเยาวชนปลดแอกคือ “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งคณะประชาชนปลดแอก
ก่อนถึงวันดีเดย์ 7 สิงหา ฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มวิจารณ์ยุทธวิธี “บุกวัง” ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ทำนองว่าสุ่มเสี่ยง ล่อเป้า และถึงขั้นตั้งข้อหา “ขายม็อบให้ตำรวจ”
“อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ จึงออกมาชี้แจงว่า “ไม่เคยขายม็อบให้ตำรวจ หากมีหลักฐานการขายม็อบให้ตำรวจโปรดนำมาชี้แจงด้วย ที่โดนสลายการชุมนุมในหลายๆ ครั้ง เป็นเพราะมาตรการของรัฐที่ใช้ปราบปรามการชุมนุม”
เมื่อวันถึงวันจริง “ม็อบ 7 สิงหา” แกนนำเยาวชนปลดแอกเจอกลยุทธ์กดดันเร็วของตำรวจ ไม่ทันที่ม็อบจะตั้งลำ รถเครื่องขยายเสียงเข้าพื้นที่ไม่ได้ จึงออกประกาศ “แกงหม้อใหญ่” ย้ายไปทำเนียบรัฐบาล แต่เจอสกัดอีกรอบ เลยเปลี่ยนแผนไปบ้านนายกรัฐมนตรี คำว่า “แกงตำรวจ” เลยถูกล้อว่า “แกงกันเอง” หรือ “แกงผู้ชุมนุม” ทำให้เคลื่อนขบวนมีข้อจำกัด ประกอบกับตำรวจวางแผน “ดักทาง” ม็อบ 7 สิงหา ไว้ทุกจุด และจบที่การปะทะกับตำรวจเหมือนทุกครั้ง
“พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์” นักวิชาการอิสระ เคยวิจารณ์ม็อบไร้แกนนำ หลัง “ม็อบ 28 กุมภา” ตอนบุกบ้านนายกฯประยุทธ์ ครั้งแรกว่า “ภูเขาของความโกรธ เกลียด แค้น ท้อแท้ สิ้นหวังของเยาวชน นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายผู้จัดชุมนุม”
และตั้งคำถามว่า “เยาวชนวันนี้กำลังเดินไปบนเส้นทางเดียวกับคนเสื้อแดง...พวกเขากำลังเดินไปสู่สถานการณ์เดียวกับการสังหารหมู่คนเสื้อแดงพฤษภา 53 หรือไม่”