กมธ.แก้รธน. เคาะสูตรส.ส.'400+100' ก้าวไกลโวยหักดิบ คว่ำ'ระบบเอ็มเอ็มพี'

กมธ.แก้รธน. เคาะสูตรส.ส.'400+100'  ก้าวไกลโวยหักดิบ คว่ำ'ระบบเอ็มเอ็มพี'

กมธ.แก้รธน. เคาะสูตรส.ส.'400+100' ก้าวไกลโวยเสียงส่วนใหญ่ชิงหักดิบตีตก "ระบบเอ็มเอ็มพี" คาใจ “เพื่อไทย” ชงยกอำนาจกกต.กำหนดหลักเกณฑ์เลือกตั้ง หากร่างกม.ลูกไม่เสร็จ

ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 ว่าด้วยจำนวนส.ส. และมาตรา 91 ว่าด้วยวิธีการคำนวณส.ส. ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยให้มีการแก้ไขจำนวนส.ส. โดยให้มีส.ส.แบ่งเขต จำนวน 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน

อย่างไรก็ตาม ก่อนลงมติในเรื่องดังกล่าว พรรคก้าวไกลเสนอว่าควรจะมีส.ส.แบ่งเขต จำนวน 350 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน เพราะควรจะมีสัดส่วนไม่ห่างกันแบบ 400 ต่อ 100 คน ซึ่งทางฝั่งของเยอรมันก็ใช้แบบครึ่งต่อครึ่ง แต่ระหว่างที่ตนอธิบายเรื่องนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประธานคณะกมธ. กลับขัดจังหวะอยู่ตลอด

“ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม หรือเอ็มเอ็มพี ของเยอรมัน สะท้องนภาพประชาชนได้ดีกว่ารัฐธรรมนูญ ปี40 ที่กำหนดจำนวนส.ส.เขต 400 และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 แต่สุดเป็นที่น่าเสียดาย ที่ประชุมลงมติตามร่างรัฐธรรมนูญที่รับหลักการมาแล้ว” นายธีรัจชัย กล่าว

นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และกมธ. ยังได้เสนอแปรญัตติให้มีการแก้มาตรา 85 ว่าด้วยให้กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วัน ถือว่าผิดหลักการ เพราะเป็นการแปรญัตติเพิ่มมาตราที่เสนอโดยกมธ. ไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่สุดท้ายแล้วที่ประชุมก็โหวตเช่นกัน โดยได้รับเสียงเห็นชอบ 16 ต่อ 15 เสียง

นายธีรัจชัย กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แปรญัตติไปถึงบทเฉพาะกาล โดยให้มีการยกร่างประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ หากไม่แล้วเสร็จให้อำนาจกกต.ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การเลือกตั้งได้เลยนั้น

ส่วนตัวเห็นว่าเป็นข้อความที่หมิ่นเหม่ เหตุใดจึงไม่ให้เป็นหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติ แต่กลับมอบอำนาจให้กกต. ซึ่งเราได้คัดค้านไม่ควรมอบอำนาจให้ฝ่ายอื่นที่ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ก็ไม่สามารถอภิปรายได้อย่างเต็มที่ กลับมีความเร่งรีบร้อนรน

ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และกมธ. กล่าวว่า นายไพบูลย์ในฐานะประธาน พูดอยู่ฝ่ายเดียว ไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายพูด ดังนั้น ในฐานะที่เป็นประธานควรมีวุฒิภาวะทางการเมืองมากกว่านี้ และเห็นว่าการพิจารณาของกมธ.ในขณะนี้อาจนำไปสู่การฝ่าฝืนหลักการ ข้อบังคับรัฐสภา และรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอันตราย และเป็นการแก้รัฐธรรมนูญที่สูญเปล่า เพราะมีความต้องการที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีหน้าตาเหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปแล้ว

นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ส่วนการแปรญัตติเพิ่มบทเฉพาะกาลของนายประเสริฐนั้น ขอโต้แย้ง 3 ประการ คือ หนึ่ง ถ้าดูประวัติความเป็นมาของกกต. เรายังกล้าให้กกต.ออกกฎเกณฑ์กติกาการเลือกตั้งอีกหรือ ที่ผ่านมาเราเห็นความล้มเหลวและเกิดคำถาม ถามว่าจะให้กกต.ออกหลักเกณฑ์การเลือกตั้งอีกหรือไม่

สอง กกต.คือผู้ใช้กฎหมาย แต่รัฐสภารับอำนาจจากประชาชนและรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ตรากฎเกณฑ์ คำถามคือบทบาทระหว่างกกต.และรัฐสภาตอนนี้กำลังมีความสับสนใช่หรือไม่ เพราะนี่ไม่ใช่หน้าที่ของกกต. ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และ3. เรากำลังให้กกต.ชุดนี้ไปออกกฎเกณฑ์บางอย่างที่ประชาชนกำลังตั้งเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คำถามคือ กกต.จะเอาความชอบธรรมอะไรในการทำกฎเกณฑ์เหล่านี้ จึงอย่ายกอำนาจที่เป็นของประชาชนไปให้กกต.ไม่กี่คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และนี่ไม่ใช่การแก้วิกฤต แต่จะเป็นการซ้ำเติมวิกฤต ทำให้ยุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ