'สามารถ' โต้ รฟม.แจงเปลี่ยนเกณฑ์สายสีสีม 'ผิดโครงการ' ขุดวิธีประมูล 30 ปีก่อน มาอ้าง

'สามารถ' โต้ รฟม.แจงเปลี่ยนเกณฑ์สายสีสีม 'ผิดโครงการ' ขุดวิธีประมูล 30 ปีก่อน มาอ้าง

'สามารถ' โต้ รฟม.ปมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม “อ้างผิดโครงการ” ชี้ รฟม.ขุดโครงการประมูล 30 ปี ที่แล้ว ขึ้นมาอ้างการใช้เกณฑ์เทคนิคผสมเกณฑ์ราคา ระบุ ล้มประมูลสายสีส้ม ต้นเหตุโครงการล่าช้า

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์บนเฟสบุ๊ค "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์" เมื่อเวลา 9.30 น.ของวันที่ 22 ส.ค.2564 เกี่ยวกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ และสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 
นายสามารถ ระบุในเฟซบุ๊ค ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ได้ออกมาชี้แจงเสียงวิพากษ์วิจารณ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ และสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ แม้ว่าไม่ได้ระบุว่าเป็นการชี้แจงต่อข้อสงสัยของผมก็ตาม แต่ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้ย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นการชี้แจงข้อสงสัยของผม ด้วยเหตุนี้ ผมจึงจำเป็นต้องโต้แย้งคำชี้แจงของท่าน ซึ่งไม่ได้ชี้แจงให้ตรงประเด็นข้อสงสัยอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้ที่ติดตามเข้าใจคลาดเคลื่อน และผมสรุปคำชี้แจงของ รฟม.ได้ 3 ประเด็น ดังนี้
1.เกณฑ์ประมูล
1.1 ผมตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด รฟม.จึงเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจาก “เกณฑ์เดิม” ซึ่งต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิค (กรณีสายสีส้มตะวันตก ต้องได้ไม่น้อยกว่า 85%) ก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านราคา (กรณีสายสีส้มตะวันตกใช้ “ผลตอบแทน”) ต่อไป ใครเสนอผลตอบแทนสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ในวงการประมูลมักเรียกเกณฑ์นี้ว่า “เกณฑ์ราคา” (แต่อย่าลืมว่าต้องผ่านเทคนิคก่อน) ซึ่งเป็นที่ยอมรับและยึดถือปฏิบัติกันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการประมูลโครงการขนาดใหญ่ของ รฟม. และของหน่วยงานอื่น
รฟม.เปลี่ยนไปใช้ “เกณฑ์ใหม่” ซึ่งต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านราคาหรือผลตอบแทน มักเรียกเกณฑ์นี้ว่า “เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา” กรณีรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและสีม่วงใต้ รฟม.กำหนดคะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านผลตอบแทน 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะชนะการประมูล
1.2 รฟม.ชี้แจงว่าเหตุที่ใช้เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและสีม่วงใต้ เนื่องจากรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายนี้มีเส้นทางผ่านพื้นที่สำคัญและอ่อนไหวหลายแห่ง รวมถึงพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ จึงจำเป็นต้องได้ผู้ชนะการประมูลที่มีประสบการณ์และสมรรถนะสูง
1.3 ผมขอโต้แย้งว่าถ้าเป็นไปตามข้ออ้างดังกล่าวจริง รฟม.ต้องใช้เกณฑ์ราคา เพราะเป็นเกณฑ์ที่ให้ความสำคัญข้อเสนอด้านเทคนิคถึง 100% เต็ม การใช้เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาเป็นการลดทอนความสำคัญข้อเสนอด้านเทคนิคลงจากเดิมที่มีคะแนนเต็ม 100% เหลือ 30% เท่านั้น ซึ่ง “ย้อนแย้ง” กับเหตุผลของ รฟม.ที่อ้างว่าต้องการได้ผู้ชนะการประมูลที่มีประสบการณ์และสมรรถนะสูง
อีกทั้ง ผมได้ยกตัวอย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค ซึ่งมีเส้นทางลอดใต้เกาะรัตนโกสินทร์และต้องขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งแรกก็ใช้เกณฑ์ราคา ปรากฏว่า รฟม.สามารถคัดเลือกผู้รับเหมาที่ทำให้งานก่อสร้างสำเร็จสมบูรณ์ และได้เปิดใช้งานในปี 2562 ทั้งๆ ที่ผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลไม่เคยมีประสบการณ์ในการขุดเจาะอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์และใต้แม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน จึงถือได้ว่าเกณฑ์ราคาเป็นเกณฑ์ที่ใช้ได้ผลดี
นอกจากนี้ ผมได้ยกตัวอย่างการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ซึ่งมีเส้นทางผ่านแหล่งชุมชนหนาแน่นและสถานที่สำคัญหลายแห่งโดยใช้เกณฑ์ราคาเช่นเดียวกัน ปรากฏว่า รฟม.สามารถคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์สูงจนทำให้งานก่อสร้างมีความคืบหน้าตามแผนงานที่วางไว้
1.4 รฟม.ไม่ได้ชี้แจงข้อสงสัยในประเด็น “ความย้อนแย้ง” และในประเด็นการใช้เกณฑ์ราคากับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและสายสีส้มตะวันออกที่ได้ผลดี แล้วทำไมจึงไม่ใช้เกณฑ์ราคากับโครงการอื่นอีก?
รฟม.พยายามยกตัวอย่างโครงการที่ใช้เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาของหน่วยงานอื่นซึ่งมีไม่มาก รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม.แค่เพียงโครงการเดียวเท่านั้นที่เคยใช้เกณฑ์นี้เมื่อกว่า 20 ปีแล้ว
1.5 ผมขอโต้แย้งว่าโครงการทั้งหลายที่ รฟม.อ้างนั้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่โครงการรถไฟฟ้า และไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่อย่างเช่นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและสีม่วงใต้ บางโครงการมีปัญหาถูกร้องเรียน เหตุที่ยกตัวอย่างโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม.เพียงแค่ตัวอย่างเดียวเป็นเพราะโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม.ใช้เกณฑ์ราคาทั้งนั้น ใช่หรือไม่? ถ้าเกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาใช้ได้ผลดี แล้วทำไม รฟม.จึงเลิกใช้ไปอย่างยาวนาน น่าเสียดายที่ รฟม.ไม่ได้ยกตัวอย่างโครงการที่ใช้เกณฑ์ราคาซึ่งมีมากมายโดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า
“ที่น่าเวทนาเป็นอย่างยิ่งก็คือ รฟม.อ้างว่าโครงการรถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover หรือ APM) ในสนามบินสุวรรณภูมิก็ใช้เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา รฟม.ไม่รู้จริงๆ หรือว่า มีการใช้เกณฑ์นี้ในการประมูลแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ต้องยกเลิกการประมูลไป 2 ครั้ง สุดท้ายในการประมูลครั้งที่ 3 ต้องใช้เกณฑ์ราคา”
อีกโครงการหนึ่งที่ รฟม.อ้างว่าใช้เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา นั่นก็คือโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมของ กทม. ก่อนอ้างโครงการใดโครงการหนึ่ง รฟม.ควรรู้ภูมิหลังของโครงการนั้นก่อนว่ามีปัญหาถูกร้องเรียนหรือไม่ สำหรับโครงการนี้นั้นในระหว่างการประมูลมีเสียงวิจารณ์ว่าอาจเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย จึงมีการร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช. อีกทั้ง ถูก ส.ส.ฝ่ายค้านนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีที่ควรนำมาอ้าง
นอกจากนี้ รฟม.ยังได้ควานหาโครงการทางด่วนที่ใช้เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคามาอ้าง ซึ่งพบว่ามี 2 โครงการ เป็นโครงการที่ประมูลนานมาแล้ว ประกอบด้วยโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งประมูลนานกว่า 30 ปีแล้ว และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ซึ่งประมูลนานเกือบ 30 ปีแล้ว แต่ทำไมจึงไม่พูดถึงโครงการทางด่วนสายอื่นที่ล้วนแล้วแต่ใช้เกณฑ์ราคา โดยเฉพาะทางด่วนสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ที่บางสัญญาอยู่ในระหว่างการประมูล บางสัญญาเพิ่งประมูลเมื่อไม่นานมานี้
2. ผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอ
2.1 ผมตั้งข้อสงสัยกรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ซึ่งเป็นการประกวดราคานานาชาติ แต่ รฟม.กำหนดให้ผู้เข้าประมูลจะต้องมีผลงานกับ “รัฐบาลไทย” เท่านั้น นั่นหมายความว่าผู้รับเหมาต่างชาติที่มีขีดความสามารถแต่ไม่มีผลงานกับรัฐบาลไทย จะไม่สามารถเข้าประมูลได้ ซึ่งต่างกับการประกวดราคานานาชาติในโครงการอื่นของ รฟม.และของหน่วยงานอื่นที่อนุญาตให้ใช้ผลงานในต่างประเทศได้ แม้ว่าผมจะสนับสนุนผู้รับเหมาไทยก็ตาม แต่เราจะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้รับเหมาต่างชาติด้วย
2.2 รฟม.ชี้แจงว่าได้ทำถูกต้องตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
2.3 ผมขอโต้แย้งโดยให้ รฟม.กลับไปดู พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 8(2) ที่บัญญัติว่า “ต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน” และระเบียบการทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 45 ที่ระบุว่า “ต้องไม่มีการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม”
ทำไม รฟม.ไม่พูดถึงมติ ครม. 28 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งมุ่งหวังให้การประกวดราคานานาชาติมีการแข่งขันอย่างกว้างขวาง และให้ได้มาซึ่งผู้ที่ชำนาญ อีกทั้ง ทำไมไม่เหลียวดูหนังสือกระทรวงคมนาคม ที่ คค 0208/2840 ลงวันที่ 7 เมษายน 2560 ที่ต้องการให้การประกวดราคานานาชาติช่วยลดการสมยอมราคา (ฮั้ว) ซึ่งถ้าเปิดให้ผู้รับเหมาต่างชาติเข้าแข่งขันได้หลายราย จะช่วยลดการฮั้วได้
2.4 รฟม.อ้างว่าทำถูกต้องตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่ กค (กวจ) 0405.3/24575 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 กรณีผลงานกับรัฐให้หมายถึงผลงานกับรัฐบาลไทยเท่านั้น
2.5 ผมขอโต้แย้งว่าการที่ รฟม.อ้างว่าได้ปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้อง เนื่องจากหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการอธิบายคำนิยาม “หน่วยงานของรัฐ” ตามแบบฟอร์มมาตรฐานที่ใช้บังคับกับการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปว่าหมายถึงหน่วยงานของรัฐไทยเท่านั้น แต่สามารถปรับเปลี่ยนข้อความในแบบฟอร์มนี้ได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐ โดยไม่ทำให้รัฐเสียเปรียบ (อ้างอิงข้อ 43 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ประกอบหนังสือที่ กค (กจว) 0405.3/59110 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563)
จึงมีเหตุชวนให้น่าสงสัยว่า ทำไม รฟม.จึงไม่ปรับเปลี่ยน “หน่วยงานของรัฐ” ให้หมายความรวมถึงหน่วยงานของรัฐ ตปท.ด้วย
3. ข้อกฎหมาย
3.1 รฟม.มักกล่าวอ้างเสมอว่าได้ดำเนินการประมูลถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ มติ ครม. และประกาศที่เกี่ยวข้อง
3.2 ผมขอให้ รฟม.ย้อนไปดู พ.ร.บ.ระเบียบ มติ ครม. และประกาศที่ผมได้อ้างถึงข้างต้นว่า รฟม.ได้ทำถูกต้องจริงหรือไม่? ที่สำคัญ “การอ้างว่าได้ทำถูกต้องตามกฎ ระเบียบทุกอย่างนั้นก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น และไม่สามารถรับประกันได้ว่าประเทศชาติจะได้ประโยชน์สูงสุด”
3.3 รฟม.อ้างว่าจะจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสำหรับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก
3.4 ผมขอถามว่า ถ้ามีข้อตกลงคุณธรรมแล้ว จะป้องกันการทุจริตหรือการฮั้วได้จริงหรือ? เนื่องจากหลายโครงการที่มีข้อตกลงคุณธรรมแต่กลับมีปัญหาในการประมูล เช่น รถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสานที่ราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางแค่เพียง 0.08% เท่านั้น
รฟม.ไม่ชี้แจงกรณีประเทศเสียหายปีละ 4.3 หมื่นล้าน
ผมได้ตั้งข้อสงสัยว่า หาก รฟม.ไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ก็จะไม่มีการล้มการประมูล ความล่าช้าในการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มก็จะไม่เกิดขึ้น ประเทศก็จะไม่เสียหาย ซึ่ง รฟม.ได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกล่าช้า พบว่าประเทศจะเสียหายสูงถึงปีละ 4.3 หมื่นล้านบาท แล้วใครจะต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น?
สรุป
ในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยมีการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้ากลางอากาศมาก่อน ดังนั้น จึงเป็นการยากที่ผู้บริหาร รฟม.จะชี้แจงให้มีเหตุผลที่น่ารับฟัง หรือไม่ย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นใจผู้บริหาร รฟม.อย่างยิ่งที่อยู่ในสภาพ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก”
ผมเชื่อว่าข้อสงสัยและข้อโต้แย้งของผมนั้นมีเหตุผลที่ผู้บริหาร รฟม.ยอมรับได้ แต่ไม่สามารถพูดออกมาได้ว่าเห็นด้วย จำเป็นต้องค้าน มีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่?
ถ้าเห็นด้วยกับผม ไม่จำเป็นต้องเปล่งเสียงออกมา แค่พยักหน้าเท่านั้นก็เพียงพอ
ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง