‘โผทหาร’ ระเบิดเวลากองทัพ  วัฏจักร “พรรคพวก-ผลประโยชน์”

‘โผทหาร’ ระเบิดเวลากองทัพ  วัฏจักร “พรรคพวก-ผลประโยชน์”

แม้ 'พรบ.กลาโหม' ปี 2551 จะปิดทาง 'ฝ่ายการเมือง' เข้ามาล้วงลูกการปรับย้ายนายทหาร แต่วัฒนธรรมแบบเดิมๆที่ยึด 'ระบบรุ่น-พรรคพวก' คัดคนเข้าสู่ตำแหน่งหลัก มากกว่าวัดกันที่ผลงาน สร้างรอยร้าวในกองทัพมาหลายยุคหลายสมัย

ปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้ ‘ผู้นำเหล่าทัพ’ ตัดสินใจทำ ‘รัฐประหาร’ เมื่อปี 2549 คือความไม่เป็นธรรมในการปรับย้ายนายทหาร และการกระจุกตัวเข้าสู่ตำแหน่งระดับผู้บังคับหน่วยของทหารบางกลุ่ม โดยมีรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองเข้ามาแทรกแซงเพื่อวางฐานอำนาจของตัวเอง

หลังเปลี่ยนขั้ว ‘กองทัพ’ ถูกจัดสมดุลใหม่ พร้อมออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ปิดทางฝ่ายการเมืองเข้ามา ‘ล้วงลูก’ และตั้งคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล หรือ “บอร์ด 7 เสือกลาโหม” ประกอบด้วย รมว.กลาโหม เป็นประธาน รมช.กลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ และปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการและเลขานุการ

สุดท้ายปัญหาเดิมๆ ก็ไม่หมดสิ้น การเล่นพรรคพวก ระบบรุ่น ก็ยังคงอยู่ และไม่เพียงแต่เป็นการผลักทหารที่อยู่ตรงกลางให้ไปยืนฝ่ายตรงข้าม ซ้ำร้ายกลุ่มทหารที่เสียผลประโยชน์จากการรัฐประหารครั้งนั้นยังให้การสนับสนุนผู้ชุมนุมที่จ้องล้มรัฐบาล - กองทัพ หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ปัญหาเหล่านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตระหนักดีมาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมาก่อนปี 2549 จนกระทั่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และหวังจะใช้ 4 ปีที่อยู่ในตำแหน่งสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กองทัพ ด้วยการไกล่เกลี่ยตำแหน่ง สลับหมุนเวียน เพื่อให้การโยกย้ายเกิดความเป็นธรรมกับทหารทุกกลุ่มทุกฝ่าย

162977622993

ทว่าความตั้งใจ และสภาพความจริงมักสวนทางกัน เมื่อวัฒนธรรมแบบเดิมๆ ฝังลึก ยากเกินเยียวยากับสภาพการเมืองที่พลิกผันรายวัน เป็นตัวแปรให้ทหารบางรุ่น คนใกล้ชิดที่ไว้ใจ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งหลักมากกว่าวัดกันที่ผลงาน จนกลายเป็นปัญหาโลกแตกสร้างรอยร้าวในกองทัพมาหลายยุคหลายสมัย

สิ่งเหล่านี้อยู่ในสายตาของ พล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะวางบทบาทตัวเองด้วยการไม่ล้วงลูก แต่ปัญหาความขัดแย้งภายในของทหาร 3 เหล่าทัพ กับโผโยกย้ายกำลังระอุขึ้นทุกๆ ปี อาจมีความจำเป็นต้องยื่นมือเข้าไปไกล่เกลี่ย

สำหรับ ‘โผทหาร’ ปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงตีกรอบตัวเองด้วยการไม่เข้าร่วมประชุมออนไลน์ โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมกับ ผบ.เหล่าทัพ โดยให้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย ก่อนนำเข้าประชุมสภากลาโหม และบอร์ด 7 เสือกลาโหม วันที่ 25 ส.ค.นี้ เพื่อนำส่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันว่าตราบใดที่ยังไม่โปรดเกล้าฯ โผทหารลงมา ความพยายามเคลื่อนไหวให้มีการปรับเปลี่ยนรายชื่อในบางตำแหน่ง พร้อมกระแสข่าวลือต่างๆ ข่าวแล้วข่าวเล่าก็จะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง

เช่น "กองทัพอากาศ" ชัดเจนว่า พล.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ เลือกเสนอชื่อเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร21 (ตท.21) เป็น ผบ.ทอ. หลังเคลียร์กับผู้ใหญ่เรียบร้อยแล้ว แต่จะเป็น ‘ม้าตีนต้น’ พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์ วัฒนวรางกูร ผู้บัญชาการกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ (ผบ.คปอ.) หรือ ‘ม้าตีนปลาย’ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ประธานที่ปรึกษา ทอ. รู้กันไม่กี่คน

ในขณะแคนดิเดตทั้งสองคน ปิดโทรศัพท์ เก็บตัวเงียบ มีเพียงคนใกล้ชิดออกมาปล่อยข่าวเป็นระลอกว่า พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์ จะถูกโยกไปเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม เพราะสู้ความแรงของ พล.อ.อ.นภาเดช ไม่ได้

ในขณะ ‘กองทัพเรือ’ แม้ พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. เลือกรักษาธรรมเนียมด้วยการเสนอชื่อคนใน พล.ร.อ. ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ เป็น ผบ.ทร. แต่พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อยากคืนความชอบธรรมให้ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย รองปลัดกลาโหมอาวุโสสูงสุด หลังจากปีที่แล้วมีความพยายามส่ง พล.ร.อ.สมประสงค์ กลับไปยังกองทัพเรือ เพื่อจ่อคิวเป็น ผบ.ทร. แต่ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร.คนก่อน ไม่รับกลับ พร้อมกับวางทายาทเอาไว้ถึง 3 คน

ท่ามกลางแรงกดดันจากคนในกองทัพเรือ โดยฝ่ายคัดค้าน มองว่า พล.ร.อ.สมประสงค์ ออกจากกองทัพเรือไปแล้วถึง 2 ปี ไม่ควรจะส่งกลับมาแย่งตำแหน่งคนในกองทัพเรือ และไม่ควรมี ผบ.ทร. ที่เป็น ตท.20 ติดต่อกันถึง 2 คน ซึ่งเป็นการไม่ยอมผ่องถ่ายอำนาจให้กับรุ่นน้อง

ส่วนฝ่ายสนับสนุน ให้เหตุผลว่า พล.ร.อ.สมประสงค์ เป็นคนดี คนเก่งคนหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านั้นถูกส่งออกนอกกองทัพเรือ อย่างไม่เป็นธรรมเช่นเดียวกัน ทั้งๆเป็นตัวเต็งขึ้นเป็น ผบ.ทร. และหากได้กลับเข้ามา ก็หวังให้แก้ไขปัญหาต่างๆที่หมักหมมภายในกองทัพเรือให้ไปในทิศทางที่ควรจะเป็น

ดังนั้น หากตกลงกันไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจำเป็นใช้วิธีโหวต ผ่านบอร์ด 7 เสือกลาโหม และหาก พล.ร.อ.สมประสงค์ ได้กลับไปเป็น ผบ.ทร. พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ (ตท.21) จะถูกส่งออกนอกกองทัพเรือ

ในส่วนของตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่” ยังคงเป็นชื่อ พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ เสนาธิการทหารบก (ตท.20) แต่ก็ยังมีการปล่อยข่าวว่า อาจถูกสลับตำแหน่งไปนั่งเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แทน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เสธทหาร

หลังคนใน สมช. ออกอาการไม่แฮปปี้ เพราะตั้งแต่ยุค คสช. จนถึงปัจจุบัน เลขา สมช. ที่มาจากพลเรือนมีเพียงคนเดียว คือ นายอนุสิษฐ คุณากร จากนั้นถูกทหารยึดครองมาโดยตลอดตั้งแต่ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ คนปัจจุบัน

หากคนต่อไปเป็น พล.อ.สุพจน์ ก็จะทำให้พลเรือนที่หวังต่อคิวขึ้นเป็น เลขา สมช. ต้องรอไปถึง 2 ปี จึงเกิดกระแสข่าวการสลับตำแหน่ง หรือ อีกทางหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ อาจเลือก พล.อ.ณตฐพล บุญงาม ที่ปรึกษาพิเศษสำนักปลัดกลาโหม มาแทน เพราะมีอายุราชการ 1 ปีเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดคือความอลหม่านที่มักจะเกิดขึ้นกับโผโยกย้ายในทุกปี กับปัจจัยเดิมๆ ในการเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งหลัก ที่เปรียบเหมือนระเบิดเวลารอวันปะทุ