ยัน 3 จุดยืนเดิม! แนวร่วม มธ.-ทะลุฟ้านัดแยกราชประสงค์ซักฟอกนอกสภา
แนวร่วม มธ.-ทะลุฟ้า-REDEM นัดชุมนุมแยกราชประสงค์ จัดเวทีปราศรัยซักฟอกนอกสภา ยัน 3 ข้อเรียกร้อง “ไล่บิ๊กตู่-แก้ รธน.-ปฏิรูปสถาบันฯ” ลั่นใช้แนวทางสันติวิธี ไม่รุนแรง เอาหนังสือ “ทนายอานนท์” ไปแจกด้วย 1,112 เล่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มทะลุฟ้า รวมถึงกลุ่ม Restart Democracy (REDEM) ที่จะนัดชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ ในเวลาประมาณ 16.00 น. โดยจะจัดกิจกรรมในลักษณะตั้งเวทีปราศรัย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นอกสภาผู้แทนราษฎร ควบคู่ไปกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ
โดยเพจเฟซบุ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ระบุว่า 3 ก.ย. 2564 เตรียมตัวให้พร้อม ม็อบใหญ่ตีคู่กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อปลดล็อกประเทศไทยไปด้วยกัน และให้ติดตามรายละเอียดกิจกรรมในประกาศครั้งต่อไป ขณะเดียวกันยังยืนยันจัดการชุมนุมด้วยแนวทางสันติวิธี ไม่รุนแรง และเน้นการดูแลความปลอดภัยจากผู้ชุมนุม โดยยังคงยืนยันจุดยืน 3 ข้อเรียกร้องคือ ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และปฏิรูปสถาบันฯ
ในการชุมนุมครั้งนี้ แนวร่วมทั้ง 3 กลุ่มได้เตรียมหนังสือ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย’ ที่บันทึกคำปราศรัยของนายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ มาแจกแก่ผู้ชุมนุมจำนวน 1,112 คนแรกที่มาถึง พร้อมกับเปิดรับบริจาคเพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมของกลุ่มด้วย
กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ชี้แจงถึงกรณีทำไมจึงควรเคลื่อนไหวด้วยแนวทางสันติวิธีมากกว่าความรุนแรง โดยอ้างอิงผลการศึกษาจากรายงานในต่างประเทศหลายชิ้น ระบุว่า หลายคนเชื่อว่า ความรุนแรงสามารถสร้างแรงกดดันที่สูง และสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริง การเก็บข้อมูลจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ.1900-2006 กว่า 323 ขบวนการ พบว่า ขบวนการที่ยึดมั่นในสันติวิธีประสบความสำเร็จ โดยข้อเรียกร้องได้รับการตอบสนองกว่าร้อยละ 53 ขณะที่ขบวนการที่ใช้ความรุนแรง ประสบความสำเร็จเพียงร้อยละ 26 เท่านั้น
หลายคนเชื่อว่า ไม่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี รัฐมีโอกาสการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ไม่ต่างกัน แต่ในความเป็นจริง จากการศึกษาพบว่า ขบวนการที่ใช้ความรุนแรงมีแนวโน้มจะถูกสังหารหมู่กลับจากภาครัฐสูงถึง 60 เปอร์เซนต์ ขณะที่ขบวนการที่ใช้สันติวิธีมีโอกาสถูกใช้ความรุนแรงกลับจากภาครัฐเพียง 23 เปอร์เซนต์ (ICNC ,2018)
หลายคนเชื่อว่า ไม่ว่าขบวนการจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ รัฐไทยก็สามารถหาข้ออ้างใช้ความรุนแรงได้อยู่ดี แต่ในความเป็นจริง แม้ไม่อาจรับประกันได้ว่าผู้ใช้สันติวิธีจะไม่ถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้าม แต่การใช้สันติวิธีจะรักษาความชอบธรรมแก่ขบวนการเคลื่อนไหว และลดทอนการใช้ความรุนแรงอย่างชอบธรรมจากรัฐ ขณะที่การใช้ความรุนแรงของขบวนการเคลื่อนไหวจะเปิดช่องให้ภาครัฐใช้ความรุนแรงอย่างชอบธรรม รวมถึงการออก “ใบอนุญาตในการสั่งฆ่า” (License to Kill) เพื่อใช้ความรุนแรงอย่างมหันต์ได้
หลายคนเชื่อว่า สันติวิธีคือการนิ่งเฉยสยบยอมต่ออำนาจรัฐเมื่อมีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม แต่ในความเป็นจริง การใช้ปฏิบัติการสันติวิธีไม่ใช่การอยู่เฉย หรือการไม่ทำอะไรเลย การใช้สันติวิธีเป็นการกระทำ(Action) ซึ่งมีรูปแบบหลากหลาย ดังกรณีการศึกษาของ Gene Sharp ที่เคยเสนอวิธีปฏิบัติการไร้ความรุนแรงในการต่อต้านกับภาครัฐไว้มากถึง 198 วิธี (Sharp, 1973)
หลายคนเชื่อว่า ยุทธวิธีการเคลื่อนไหว ไม่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้น หรือลดลง ของผู้เห็นด้วยกับขบวนการ แต่ในความเป็นจริง การใช้ความรุนแรงมีโอกาสบั่นทอนแนวร่วม และยากแก่การโน้มนาวชักจูงผู้คนให้เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง ขณะที่สันติวิธีเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวที่มีสมรรถภาพในการโน้มน้าวชักจูงผู้คน ทั้งฝ่ายที่เป็นกลาง และฝ่ายตรงข้าม ให้หันมาสนใจ กระทั่งเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวได้
หลายคนเชื่อว่า ไม่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี ผลลัพท์สุดท้ายก็คือการได้ประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริง ผลลัพธ์และวิธีการในการไปสู่ผลลัพธ์ทางการเมืองนั้นไม่อาจแยกออกจากกันได้โดยสมบูรณ์ ผลลัพธ์ที่ได้มาจากการเคลื่อนไหวด้วยแนวทางสันติวิธี เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน มีแนวโน้มจะเป็น ‘ประชาธิปไตยที่ลงหลักตั้งมั่น’ มากกว่าผลลัพท์ที่ได้จากการใช้ความรุนแรง
อนึ่ง เมื่อคืนวันที่ 2 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา เวลา 19.00 น. กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และแนวร่วมอาชีวะฯ ได้เปิดคลับเฮ้าส์พูดคุยกันเรื่อง การต่อสู้แบบสันติวิธี ประเด็นจะใช้ Non Violent Action (NVA) หรือปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อยกระดับการกดดันต่อรัฐบาลได้อย่างไร เพื่อนำไปสู่ความได้เปรียบและชัยชนะทางการเมือง
ทั้งนี้ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้กลับมาปรับขบวนเป็นรูปแบบเวทีปราศรัยอีกครั้ง โดยได้ทำความเข้าใจกับสังคมว่า หลังจากเปิดหน้าสู่สาธารณชนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ปีที่แล้ว และปีนี้ไม่ได้ลดดีกรีความร้อนแรงน้อยลง แต่จะเป็นแนวหน้าพามวลชนวิเคราะห์และถกเถียง ทุกประเด็นเด็ดให้เข้าสู่สังคมอย่างแข็งกร้าวและดุดัน โดยยึดมั่นในหลักสันติวิธี