จับตา ยุบ'ศบค.'คืนภารกิจคุม'โควิด'ให้ 'สธ.'1ต.ค.นี้
"นายกฯ" เรียกประชุม "ศบค.ชุดใหญ่" 10ก.ย. จับตา เลิกต่อ 'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน' คุมโควิด ส่งมอบ "สธ." รับผิดชอบปกติ ผ่าน พ.ร.บ.โรคติดต่อ แทน "ศบค." ถูกยุบโดยปริยาย 1ต.ค.นี้ "เลขาฯสมช." รับ เป็นไปได้ไม่ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้กม.โรตติดต่อฉบับแก้ไขตอบโจทย์ทุกอย่าง
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเมื่อเวลา 09.30 น.นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบ Video Conference ที่ห้อง PMOC ชั้น2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
อ่านข่าว-'โควิด 19 ติดเชื้อ' วันนี้ ชลบุรียอด 703 ราย เช็ค 8 คลัสเตอร์โรงงาน
มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ “ศบค. ชุดใหญ่” ในวันศุกร์ที่ 10 ก.ย. นี้ โดยมีการคาดกันว่าจะประเมินสถานการณ์หลังคลายล็อกมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว และยังจะมีการพิจารณาทบทวนการใช้อำนาจตามราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งจะให้สิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. นี้ โดยจะกลับไปใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ.2558 แทน
ดังนั้น จะส่งผลให้ ศบค. สิ้นสภาพไปโดยปริยาย และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบตามหน้าที่ปกติโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่1 ต.ค. นี้ เป็นต้นไป
ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค. กล่าวถึงกระแสข่าวพิจารณายกเลิกพระราชกำหนดฉุกเฉิน โดยระบุว่า ทุกอย่างเป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ซึ่งนโยบายของนายกรัฐมนตรีและศบค. ให้มีการเตรียมการไว้อยู่แล้ว ซึ่งทราบดีว่าสังคมไม่สบายใจกับเรื่องนี้ ซึ่งจะเห็นว่าห้วงเวลาที่ผ่านมาเราอยู่กับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แทบจะไม่รู้สึกด้วยซ้ำ เพราะใช้เฉพาะมาตราการควบคุมโรคติดต่อเท่านั้น ซึ่งก็ต้องมีวันสิ้นสุด เป็นการเตรียมการไว้เท่านั้นส่วนจะให้สิ้นสุดเมื่อใดต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล และศบค.
พล.อ.ณัฐพล ยอมรับว่ามีกฎหมายอื่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข พยายามปรับปรุงและพัฒนาพ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้ตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ ซึ่งหากกฎหมายนี้เสร็จสิ้นก็พร้อมที่จะมาแทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ และพร้อมที่จะปรับไปใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไข
ส่วนจะไม่มีการต่อขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะสิ้นสุดในสิ้นเดือนก.ย.นี้หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากสถานการณ์ยังทรงอยู่ในลักษณะนี้ เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนดีพอสมควร และประชาชนเองก็มีความเข้าใจ แม้จะมีประชาชนส่วนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามมาตรการแต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อหรือสถานการณ์เป็นตัวพิจารณา พร้อมย้ำว่าทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ศบค. และรัฐบาล
พล.อ.ณัฐพล ระบุว่า หากไม่มีการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศบค. ก็ต้องจบภารกิจไป แต่ไม่ใช่จบหายไปจากวงจร อาจแปรสภาพเป็นระบบอื่นที่มีกฎหมายใหม่รองรับได้ เพราะฉะนั้นกฏหมายใหม่รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันได้เนื่องจากที่ผ่านมาเกือบสองปีเรารับทราบแล้วว่าอะไรคือปัญหา เพราะฉะนั้นกฏหมายทุกฉบับทางสภาและรัฐบาลต้องพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากอะไรและกฎหมายเองต้องรองรับการแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านั้นได้ ขอประชาชนอย่าเป็นห่วง ว่าหากไม่มี ศบค. แล้วจะสามารถรับมือได้ พร้อมกับย้ำว่ากฎหมายใหม่สามารถรับมือได้อย่างแน่นอน
พล.อ.ณัฐพล ยังระบุอีกว่า ขณะนี้กฎหมายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยหากระงับการบังคับใช้พ.ร.ก.ในช่วงนี้กฎหมายเก่าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ แต่กฎหมายใหม่นั้นสามารถรองรับสถานการณ์ได้ ด้วยประสบการณ์ในห้วงเวลาที่ผ่านมาตนคิดว่าเพียงพอ และบางทีดีกว่าเพราะเราก็ฉุกเฉินด้วยซ้ำ เนื่องจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินมีแต่ความเข้ม และเราใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นภัยอะไรก็ตาม แต่ไม่ตอบโจทย์ในทุกกรณี แต่กฎหมายใหม่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกกรณีเนื่องจากได้รับการเสนอจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ที่ทราบเรื่องดีที่สุดว่าอะไรคือปัญหาและอะไรที่ต้องแก้ไขปัญหา แต่พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไข จะตอบโจทย์ทุกอย่าง
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงสิ้นเดือนนี้แล้วกฎหมายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จก็ต้องมาพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทางรัฐบาลเองก็ยังเร่งรัดอยู่ เพราะ ฉะนั้นทันทีที่พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขแล้วเสร็จ ก็สามารถบังคับใช้ได้ทันที เหลือเพียงแค่ศบค.นั้นแปรสภาพ ส่วนจะแปรสภาพอย่างไรก็คงแล้วแต่กระทรวงสาธารณสุขและทีมงานของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าจะใช้รูปแบบศบค.ปัจจุบันไปประยุกต์ใช้ หรือจะใช้แบบอื่นเลย
ส่วนการประเมินการออกมาตรการจะมีการคลายล็อคในการประชุมครั้งต่อไปหรือไม่นั้น พลเอกณัฐพลระบุว่า ขณะนี้ขอให้รกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้เสนอมาก่อน เนื่องจาก ต้องฟังนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน ที่จะต้องมาหารือร่วมกับกระทรวงอื่น พร้อมย้ำว่าต้องฟังข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก
ขณะที่โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ก็มีการทบทวนการทำงาน มีการประชุมแบบวันเว้นวัน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ติดตามอย่างใกล้ชิด ทราบว่า การติดเชื้อ 900 คน ยอมรับว่าเป็นจำนวนที่มาก แม้ว่าจะมีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว แต่ในแง่ของกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่น่าหนักใจ เนื่องจากปัจจุบันจะต้องมีการปรับใช้จาก Pandemic หรือการระบาดใหญ่ เป็น Endemic หรือ การระบาดเฉพาะถิ่น ซึ่งหลายประเทศก็ปรับตามในสภาพนั้น เพราะฉะนั้นในอนาคต
ตัวเลขผู้ติดเชื้อ จะไม่ใช่เรื่องความเร่งด่วนสูงสุด เพียงแต่ว่าขณะนี้ยังไม่มีการสรุปอย่างเป็นทางการ แต่ยืนยันว่าพิจารณามาตรการจะต้องพิจารณาหลายอย่างประกอบกัน ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อผู้เสียชีวิตและขีดความสามารถของจำนวนเตียงที่รองรับ และดูลักษณะของการแพทยระบาด ว่าเป็นอยู่บ้างหรือเฉพาะจุด หากเป็นเฉพาะจุดก็ไม่ใช่ปัญหา ซึ่งจากการรายงานในปัจจุบันขีดความสามารถยังรองรับได้อยู่
ทั้งนี้ในช่วงท้ายพลเอกณัฐพลระบุว่า เลขาสมช. คนใหม่ยังไม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในสัปดาห์นี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดการด้านเอกสาร ระหว่าง สมช. และ กระทรวงกลาโหม ซึ่งมีขั้นตอนมากกว่าทั่วไป เนื่องจากเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของ เพราะมีเรื่องของขั้นตอนการโปรดเกล้าฯ
ทั้งนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือเรียกกันทั่วไปว่า ศบค. มีที่มาจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 มีมติมอบหมายให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำนดนโยบายและมาตรการเร่งด่วนในการบริหารสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น โดยให้คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ และศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย
ทั้งนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้เผยแพร่คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 76/2563 เรื่อง จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระบุว่า ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่และระบาดอยู่ในหลายประเทศตั้งแต่ปลายปี 2562 (ค.ศ. 2019) เป็น “ภาวะฉุกเฉินต้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” และต่อมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็น “การระบาดใหญ่”
โดยในประเทศไทยได้ปรากฏการระบาดของโรคภายในประเทศอันเนื่องมาจากผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้อาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกาศแล้วว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายและประกาศให้ท้องที่นอกราชอาณาจักรบางประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคและมีผู้ป่วยเสียชีวิต ตลอดจนมีความเสี่ยงเป็นอันมาก เป็นเขตติดต่อของโรคดังกล่าว
ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยให้อยู่ในวงจำกัด ลดผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของประชาชน เศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ สร้างความตระหนักรู้เท่าทันและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการระบาดของโรคอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตฐานสากล ตลอดจนประเมินสถานการณ์เพื่อการบังคับใช้กฎหมายให้ตรงกับความรุนแรงของปัญหา และวางมาตรการป้องกัน ควบคุมและช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
1.ให้จัดตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” เรียกโดยย่อว่า “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” ขึ้นในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตั้งอยู่ในทำเนียบรัฐบาล หรือสถานที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด และขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
2.แต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด-19)” โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ผู้บริหารสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ
ต่อมาเดือน มี.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ผบ.ศบค. ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2563 เรื่องการจัดโครงสร้างของ ศบค. ทั้งนี้ ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 นั้นเพื่อเป็นการจัดโครงสร้างขององค์กรให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่และเพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคห้า แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกอบด้วย ข้อ 4(3) ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระรากำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 ลงวันที่ 25 มี.ค. พ.ศ.2563
นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19 จึงมีคำสั่งให้ศบค. มีการจัดโครงสร้างภายใน โดยมีการจัดโครงสร้างดังนี้ 1.สำนักงานเลขาธิการ มีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่นายกฯมอบหมายเป็นหัวหน้าสำนักงาน 2.สำนักงานประสานงานกลาง ให้เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เป็นหัวหน้าสำนักงาน 3.ศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ และสาธารณสุข ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวศูนย์ 4.ศูนย์ปฎิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าศูนย์ 5.ศูนย์ปฎิบัติการกระจายหน้ากาก และเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าศูนย์
6.ศูนย์ปฎิบัติการควบคุมสินค้าให้ปลัดพาณิชย์เป็นหัวหน้าศูนย์ 7.ศูนย์ปฎิบัติการมาตรการเดินทาง เข้า ออกประเทศ และดูแลคนไทยในต่างประเทศ ให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าศูนย์ 8.ศูนย์ปฎิบัติการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหัวหน้าศูนย์ 9.ศูนย์ปฎิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าศูนย์ และ 10.ศูนย์ปฎิบัติการด้านข้อมูล มาตรการแก้ไขปัญหาจากติดเชื้อโควิด-19 ให้ปลัดสำนักนายกรัฐนตรี เป็นหัวหน้าศูนย์
โดยทั้ง 10 ศูนย์ จะต้องรายงานให้ นายกฯในฐานะ ผอ.ศูนย์ได้รับทราบ และ นายกฯในฐานะผอ.ศูนย์ สามารถปรับปรุงโครงสร้างได้ นอกจากนี้ ผอ.ศูนย์ยังสามมารถแต่งตั้งบุคคล เป็นคณะที่ปรึกษา ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมาย ด้านธุรกิจ และด้านอื่นๆ อีก ตามสมควร