กมธ.ดีอีเอส จ่อถกแนวทางป้องกัน แฮกข้อมูล เรียกค่าไถ่

กมธ.ดีอีเอส จ่อถกแนวทางป้องกัน แฮกข้อมูล เรียกค่าไถ่

"กมธ.ดีอีเอส" ห่วงมือดีแฮกข้อมูลประชาชน  เล็ง นำเข้ากมธ. ทำระบบป้องกันภัยไซเบอร์ ชี้ความไม่มั่นคงทางไซเบอร์ แนวโน้มรุนแรง

         น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคมดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกรณีการแฮกข้อมูลผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข 16 ล้านคนว่า ตนเองในฐานะประธานกมธ. ดีอีเอส รับทราบข่าวนี้ และติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เราให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างมาก เพราะก็เคยเกิดกับโรงพยาบาลสระบุรีมาแล้ว เรื่องนี้จะเป็นภัยทั้งในแง่ความมั่นคง ผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เพราะไม่ใช่เกิดเฉพาะกับโรงพยาบาล แต่เกิดกับสถาบันการเมือง ระบบการขนส่ง ซึ่งจะกระทบกับคนจำนวนมาก ดังนั้นการประชุมกมธ.ในวันที่ 9 กันยายน นี้ จะได้มีการหารือกันกรรมาธิการ เพื่อบรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณาหาแนวทางป้องกันในอนาคตต่อไป 

 

       ด้านพันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ฐานะรองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า เกิดจากฐานข้อมูลหน่วยงานในประเทศไทย ไม่มีระบบการรักษาระบบความปลอดภัยด้านไซเบอร์ จึงทำให้ถูกเจาะข้อมูลได้ง่าย ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริงประเทศไทยเรามี พ.ร.บ. ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อยู่แล้ว ซึ่งจะมีข้อกำหนดชัดเจนว่าต้องวางระบบการรักษาข้อมูลความปลอดภัยในออนไลน์  อ่านข่าว-สธ.ยอมรับ ถูกแฮกข้อมูลสาธารณสุข 16 ล้านคนผู้ป่วย พบต้นเหตุ จ.เพชรบูรณ์

 

 

         "ขณะนี้ยังถือว่าหละหลวมอยู่ โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง คือ สำนักงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกระทรวงดีอีเอส แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ จึงเชื่อว่าหลังจากนี้ การถูกแฮกข้อมูลออกไปจากหน่วยงานรัฐจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปเรียกค่าไถ่ได้" พันเอกเศรษฐพงค์ กล่าว.