โหวต “แก้รธน.” วาระ 3 เปิดทางนักเลือกตั้ง ลดอำนาจปชช.
"ระบบเลือกตั้ง" แบบ "จัดสรรปันส่วนผสมไ ที่ออกแบบไว้ใน รัฐธรรมนูญ2560 เพื่อแก้ปัญหาการเมืองเสียงข้างมาก เด็ดขาด - ยากตรวจสอบและถ่วงดุล ยังบังคับใช้ได้ไม่เต็มที่ มีเหตุต้องให้ปรับ-แก้ไข ปัจจัยสำคัญคือ สนองความต้องการนักเลือกตั้ง เพื่อลดอำนาจประชาชน
วันที่ 10 กันยายน รัฐสภานัดลงมติ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึ่งแก้ไขมาตรา 83 และ มาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ในวาระ 3
สำหรับสาระสำคัญของเนื้อหาคือ ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีส.ส.เขต 400 เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และปรับหลักเกณฑ์หา ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากระบบสัดส่วนเป็นระบบเติมเต็ม
ขณะที่การลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของรัฐสภา ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกรวมกัน 732 คน โดยจำนวนเห็นชอบนั้นต้องประกอบด้วย เสียงส.ว. ไม่น้อกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ที่มี หรือ 84 เสียงจาก 250 คน และต้องมีเสียงเห็นชอบจากส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และพรรคที่ไม่มีบุคคลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือประมุขของสภาผู้แทนราาฎร ไม่น้อยกว่า 20% ของสมาชิกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน หรือประมาณ 45 คน
โดยแนวโน้ม เกณฑ์คะแนนเสียง ฝั่ง ส.ส.ผ่านแน่นอน เพราะ “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน ยืนยันว่า 100 เสียงของพรรคเพื่อไทยลงมติผ่านวาระ 3 แน่นอน
ส่วนฝั่ง ส.ว.แม้จะยังมีความเห็นต่าง และแบ่งสายการลงมติ เป็น 3 ทาง คือ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง แต่เมื่อเช็คต้นสายปลายน้ำที่ “นักการเมือง” อยากได้ ระบบเลือกตั้ง ที่ผันผลลัพท์ สร้างนักการเมืองรุ่นใหม่ ควบคุมยาก เชื่อว่า 84 เสียงนั้นไม่มีคำว่า “เป็นไปไม่ได้"
แต่ในฝั่งของส.ว.เอง ยังมีผู้ที่กังวลว่า การเห็นชอบแบบนี้อาจเป็นจุดเริ่มของการนำประเทศไปสู่วังวนความขัดแย้งเมื่อ 16 ปีก่อน โดย “ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน” ตั้งคำถามและข้อสังเกตว่า “ความปรองดองของ พรรคใหญ่ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล คือ อาจเป็นความพยายามกินรวบประเทศ”
ย้อนไปเมื่อปี 2548 ต้องยอมรับว่าระบบเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้สร้างความเข้มแข็งให้ฝ่ายบริหาร และพรรคไทยรักไทย จนทำให้เกิด “เผด็จการรัฐสภา-เสียงข้างมากเข้มแข็ง” ระบบรัฐสภาไม่มีประสิทธิภาพเรื่องการถ่วงดุล
กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาเตรียมลงมติวาระ 3 เหมือนย้อนเวลาไปสู่จุดนั้นอีกครั้ง
เพราะด้วยสภาพ การคุมทุกองคาพยพแบบเบ็ดเสร็จ ทั้ง “การบริหาร-ราชการ” ภายใต้คณะบริหารปัจจุบัน หาก ผู้นำ-ผู้ได้อำนาจ คิดไม่ซื่อ วังวนขัดแย้ง-อุบัติเหตุของประชาธิปไตยไทยอาจเกิดขึ้นได้อีก
การปรับแก้ระบบเลือกตั้งที่อาจพาประเทศย้อนไปสู่เผด็จการรัฐสภานั้น ใช่ว่านักการเมืองในสภาฯ ปัจจุบันจะไม่รู้ เพราะทุกคนที่เป็นคีย์แมนล้วนเคยผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้วทั้งนั้น
แต่สิ่งที่เขายังดันให้แก้เนื้อหา เพราะคิดว่าอยากผ่อนกติกาเลือกตั้ง ที่ “แบบแผนของปฏิรูปการเมือง”
ทั้งการออกแบบให้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ใช้สูตรคำนวณที่ต้องอาศัยนักเลือกตั้งที่มีคุณภาพลงแข่งขันแย่งคะแนนตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ อีกทั้งในกฎหมายลูกยังกำหนดรายละเอียดที่ยากต่อ “นักเลือกตั้ง” ที่ชินกับระบบเลือกตั้งแบบเก่าจะปฏิบัติได้
เช่น การจัดให้มีการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี่โหวต) การใช้เกณฑ์สมาชิกพรรคหรือผู้แทนพรรคประจำจังหวัด เป็นฐานคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.
อีกทั้งการกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมือง ทั้งการกำหนดนโยบาย กำหนดผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งเขต และบัญชีรายชื่อ กำหนดให้มีสาขาพรรคในจังหวัดหรือภูมิภาคต่างๆ และสมาชิกพรรคต้องจ่ายเงินเป็นค่าสมาชิก
ยังไม่นับ กติกาที่ให้ ส.ส.และพรรคการเมือง ต้องมีความรับผิดชอบกับนโยบาย -โครงการที่ให้สัญญากับประชาชน
ดังนั้นเมื่อแม่บทระบบเลือกตั้งถูกแก้ไขแล้ว ฉากต่อไปคือ การรุกคืบแก้ไข กติกา-รายละเอียด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป้าหมายเดียวของการรื้อระบบเลือกตั้ง จุดมุ่งหมายคือการอำนวยความสะดวกให้ “พรรคการเมือง-นักเลือกตั้ง” ลดทอนกติกาที่ “เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน” ซึ่งเป็นฐานสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง.