เปิดประวัติ-ตัวเต็ง 10 ผู้สมัครเข้ารับสรรหา‘กรรมการ ป.ป.ช.’คนใหม่
เปิดประวัติ-ตัวเต็ง 10 ผู้สมัครเข้ารับการสรรหา “กรรมการ ป.ป.ช.” คนใหม่ แทน “พล.ต.อ.สถาพร” ที่จะเกษียณราชการ “พล.อ.ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์” เจ้ากรมพระธรรมนูญ มาแรง?
ปิดการรับสมัครเรียบร้อยแล้ว สำหรับการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คนใหม่แทน พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ที่จะเกษียณอายุราชการ เนื่องจากอายุครบ 70 ปี
โดยผลการปิดรับสมัคร มีผู้มาสมัครเข้ารับการสรรหาทั้งสิ้น 10 ราย ได้แก่ 1.นายสมบัติ ธรธรรม 2.นายศิริชัย ศิริกุล 3.ว่าที่ร้อยตรี อำนวย อุปถัมภ์ 4.นายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ 5.ศ.อารยะ ปรีชาเมตตา 6.นายวิฑูลรย์ ศิริวิโรจน์ 7.นายจาตุรงค์ สรนุวัตร 8.นายสมศักดิ์ วรวิจักษณ์ 9.พล.อ.ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์ 10.นายประหยัด เสนวิรัช
น่าสังเกตว่าผู้สมัครเข้ารับการสรรหาทั้ง 10 ราย ไม่มีใครเคยเป็น ‘ลูกหม้อ’ ของสำนักงาน ป.ป.ช. เลยแม้แต่รายเดียว สาเหตุเป็นเพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บัญญัติหลักเกณฑ์เข้มงวดว่า ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
นั่นหมายความว่า ‘ลูกหม้อ’ สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องเคยขึ้นระดับ ‘เลขาธิการ ป.ป.ช.’ และต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมาก และไม่เคยมีใครดำรงตำแหน่งนานขนาดนั้นมาก่อน แม้แต่นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. คนปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งนานสุดแค่ 4 ปีเท่านั้น และกำลังจะเกษียณในปีนี้
กลับมาที่ผู้เข้ารับการสรรหาต่อ ใครเป็นใครกันบ้าง อ่านได้จากบรรทัดถัดไป
1.นายสมบัติ ธรธรรม เคยสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. หลายครั้ง แต่ยังมิเคยได้รับการคัดเลือก ปัจจุบันประกอบอาชีพทนายความ และเคยเป็นที่ปรึกษา พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. ก่อนหน้านี้เคยเป็นกรรมการ (บอร์ด) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
2.นายศิริชัย ศิริกุล ปัจจุบันเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตลิ่งชัน ก่อนหน้านี้เคยเป็นประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์
3.ว่าที่ร้อยตรี อำนวย อุปถัมภ์ ทนายความอิสระ และหัวหน้าสำนักกฎหมายอุปถัมภ์และธุรกิจ ก่อนหน้านี้เคยสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่า สตง.) แต่มิได้รับการคัดเลือก
4.นายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ก่อนหน้านี้เคยเป็นมือทำคดีสำคัญของอัยการ เช่น คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริต และคดีฟอกเงินที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นต้น
5.ศ.อารยะ ปรีชาเมตตา ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผลงานที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นสายวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก
6.นายวิฑูลรย์ ศิริวิโรจน์ เคยเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มาแล้วแต่ไม่ผ่านการคัดเลือก ปัจจุบันเป็นกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต (มีนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานฯ) นอกจากนี้ยังเป็นทนายความผู้จัดการสำนักงาน เค.วี.เอส. ที่ปรึกษากฎหมาย ก่อนหน้านี้เคยเป็นกรรมการกฎหมาย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยในช่วงเป็นกรรมการกฎหมาย สภาอุตสาหกรรมฯ เคยมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการทุจริตโครงการยกระดับฝีมือแรงงานจากน้ำท่วมปี 2554 ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
7.นายจาตุรงค์ สรนุวัตร ผู้พิพากษาศาลฎีกา ก่อนหน้านี้เคยเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี เคยสมัครเข้ารับการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. มาก่อนแล้วเช่นกัน แต่มิได้รับการคัดเลือก
8.นายสมศักดิ์ วรวิจักษณ์ ทนายความ และกรรมการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ก่อนหน้านี้เคยเป็นกรรมการ (บอร์ด) องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย เคยเป็นคณะอนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเคยทำงานเกี่ยวกับฝ่ายกฎหมายของธนาคารชั้นนำหลายแห่ง
9.พล.อ.ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์ เจ้ากรมพระธรรมนูญ เป็นหนึ่งในแคนดิเดตสุดท้ายว่าที่ผู้สมัครเข้ารับการสรรหากรรมการ กสทช. แต่มีการล้มการสรรหาออกไปก่อน
ว่ากันว่า พล.อ.ประชาพัฒน์ เป็นหนึ่งในแคนดิเดตตัวเต็งในการเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งนี้ เนื่องจากตอนสมัครกรรมการ กสทช. ได้รับแรงสนับสนุนอย่างมากจาก ‘ขาใหญ่ทำเนียบฯ’ รวมถึงเจ้าตัวเป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบ รหัส OSK97 เรียนหลักสูตร วปอ. 2559 มาแล้วด้วย
10.นายประหยัด เสนวิรัช ทนายความ ก่อนหน้านี้เป็นนายกสมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค และเคยเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กกต. มาแล้วแต่มิได้รับการคัดเลือก
ทั้งหมดคือโปรไฟล์คร่าว ๆ โฉมหน้าผู้สมัครเข้ารับการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. คนใหม่แทน พล.ต.อ.สถาพร ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.
ขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะต้องส่งรายชื่อผู้สมัครทั้ง 10 ราย ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. เมื่อได้ผลมาแล้ว คณะกรรมการสรรหาฯ จะต้องพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม พร้อมกับเชิญผู้สมัครมาสัมภาษณ์และแสดงความเห็น
ท้ายที่สุดใครจะได้ตำแหน่งนี้ไป ต้องรอดูกัน