"รัฐสภา" ท้วง ม.8 ร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติ ขัดหลักสิทธิเด็ก
รัฐสภา พิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ สมาชิกรัฐสภารุมท้วง เนื้อหาขัดหลักกฎหมาย - เชื่อปฏิรูปการศึกษาไม่ได้จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญ เพราะเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ หมวดว่าด้วยการปฏิรูปกำหนด
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมายปฏิรูปการศึกษา คือ กำหนดรายละเอียดของการทำแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการ กำกับ ส่งเสริมและสนับสนุนให้การจัดการศึกษามีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงต้องมีกลไกและผลิต คัดกรอง พัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเนื้อหาของการอภิปรายของส.ส. นั้น แม้ส่วนใหญ่จะสนับสนุนในประเด็นการออกใบประกอบวิชาชีพของครู แต่เมื่อลงรายละเอียดของการพัฒนาเด็กตามช่วงวัย และแผนพัฒนาการศึกษา ถูกทักท้วงจากส.ส.เป็นส่วนใหญ่ ว่า ไม่เหมาะสม เพราะเขียนแนวทางการศึกษาแบบย้อนยุค ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของโลก และความหลากหลายของการเรียนรู้ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อหาของร่างกฎหมายขาดความยืดหยุ่นและไม่สามารถทำให้การปฏิรูปการศึกษาตามรัฐธรรมนูญทำได้จริง
โดยในเนื้อหาที่ถูกทักท้วงมากที่สุด คือ มาตรา 8 ว่าด้วยข้อกำหนดพัฒนา ฝึกฝน และบ่มเพาะให้ผู้เรียนมีสมรรถนะตามมาตรา 7 ต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามช่วงวัย ซึ่งกำหนดเป็น 7 ช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง การศึกษาระะดับอุดมศึกษา ที่ถูกมองว่าได้นำลักษณะของการพัฒนาการเด็กในสมุดคู่มือตรวจพัฒนาการของเด็กมาบัญญัติไว้ โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขในภาวะปฏิบัติ เช่น ช่วงวัยที่หนึ่ง ตั้งแต่ แรกเกิดถึง1ปี ต้องได้รับการเลี้ยงดูให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ พัฒนาอารมณ์ และกระตุ้นการรับรู้ทางประสาทสัมผัสให้ช่วยเหลือตนเองได้ตามวัย ที่หลายครอบครัวอาจทำไม่ได้ เพราะฐานะทางครอบครัว หรือ ภาวะปัญหาสุขภาพ เป็นต้น
พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดแนวปฏิบัติหากไม่สามารถทำได้จริง อาจมีประเด็นที่ถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งจะเป็นภาระมากกว่าคำนึงถึงการปฏิรูป นอกจากนั้นเนื้อหายังขาดความยืดหยุ่น
ทั้งนี้ในส่วนของส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายคัดค้านค้าน เนื่องจากมีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กตามยุคสมัย ทำให้สภาพการศึกษาของไทยเหมือนอยู่ในกะลาครอบ อีกทั้งยังกล่าวว่า ผู้ที่ยกร่างเนื้อหาไม่เข้าใจในแผนและแนวทางการพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง เนื่องจากที่มา คือ มาจากการรัฐประหาร
โดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การศึกษายุคปัจจุบันต้องไม่ใช่กะบวนการที่จะสร้างใครให้เป็นแรงงานเพื่อไปรับใช้ใครอีกต่อไป ยุคนี้เขาเลิกถมกันแล้วว่าโตขึ้นอยากขึ้นอะไร เพราะเราไม่รู้ว่าอีก 10-20 ปี ข้างหน้า อาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันจะยังคงมีอยู่ไหม จะเกิดอาชีพใหม่ๆอะไรขึ้นบ้าง การศึกษาจึงไม่ใช่การเอาโจทย์ในอดีตมาบงการคนที่เกิดทีหลัง ว่าโตขึ้นไปต้องเป็นอะไร เพราะแบบนี้ไม่ใช่ระบบการศึกษา แต่เป็นกระบวนกาผลิตก้อนอิฐที่หายใจได้ เพื่อนำไปก่อเป็นกำแพงที่ทานกระแสโลก
ขณะที่นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่าเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ไม่คำนึงถึงความหลากหลาย ที่ปัจจุบันมีการศึกษาแบบโฮมสคูล และไม่ส่งเสริมความเท่าเทียมของคุณภาพการศึกษาในต่างจังหวัดและกรุงเทพ ทั้งนี้การเขียนรายละเอียดในมาตรา 8 ว่าด้วยการพัฒนาฝึกฝน และบ่มเพาะของเด็ก แต่ละช่วงวัยนั้น พบเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิของเด็กตามกฎหมายอื่น รวมถึงไม่ตรงกับหลักการการคุ้มครองเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก.