แผนพัฒนาฉบับ 13 “พลิกโฉมประเทศ” แปรวิกฤติเป็นโอกาส
การจัดทำแผนพัฒนาโฉมประเทศในครั้งนี้ ต้องเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของโลกจะแคบลงได้ ต้องมีการกำหนดเป้าหมายและไทม์ไลน์อย่างชัดเจน แปรวิกฤติเป็นโอกาส
กว่า 60 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรวม 12 ฉบับ ให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจในแต่ละด้าน มุ่งเน้นขยายการเติบโตและการรักษาเสถียรภาพสลับกันตามตามสถานการณ์และแนวโน้มประเทศและโลกในขณะนั้นกระทั่งแผนพัฒนาฉบับที่ 8 ช่วงพ.ศ.2540-2544 เป็นจุดเปลี่ยนที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม และมุ่งให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาให้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ก่อนที่แผนฉบับที่ 9 พ.ศ.2545 -2549 ได้อัญเชิญแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ ควบคู่ไปกับกระบวนทรรศน์การพัฒนาแบบ
บูรณาการเป็นองค์รวมที่มีคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 กำหนดสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย.ปี2565
เมื่อวานนี้ (22 ก.ย.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดการประชุมประจำปี 2564 Mission to Transform : 13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศไทย การสัมมนาครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มากล่าวปาฐกถาพิเศษยังมีนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รวมถึงภาคเอกชน สศช.ได้เสนอร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
(พ.ศ.2566-2570) บนพื้นฐานของหลักการแนวคิดที่สำคัญ4 ประการ ได้แก่ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิด Resilience เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อมุ่งสู่วัตถุประสงค์หลักของแผนคือการพลิกโฉม ประเทศไทย สู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน
ยังมีการกำหนดการพัฒนา 13 หมุดหมาย เพื่อเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน มีเป้าหมายและทิศทางในการสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่แผนพัฒนาฯ ลงลึกแต่ละประเด็นวางเป้าหมายความสำเร็จใน 5 ปี ยกตัวอย่าง การพัฒนาคนต้องพัฒนาแรงงานและทักษะให้เป็นรูปธรรม กำหนดหลังจากรับฟังความเห็นร่าง จะเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่เกิน ก.ย.2565 ประกาศใช้แผนในเดือน ต.ค.2565 เป็นต้น
เราเห็นว่า การจัดทำแผนพัฒนาฯ ครั้งนี้ จะรองรับการเปลี่ยนแปลงระดับโลกได้ตามที่คาดหวัง ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็วและต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการเท่าทันการเปลี่ยนแปลงสู่ช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในวันทุกประเทศต่างเผชิญหน้ากับโควิด19 มาเหมือนกัน ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของโลกจะแคบลงได้ ด้วยแผนพัฒนาที่ทันยุุคสมัย โฟกัสแต่ละเซ็คเตอร์ มีการกำหนดเป้าหมายและไทม์ไลน์อย่างชัดเจน ถือเป็นโอกาสของไทยในการแปรวิกฤติเป็นโอกาส หัวใจก็คือคนไทยต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการสนับสนุนที่เข้มแข็งของภาครัฐอย่างจริงใจ.