"พระปกเกล้า" เสนองานศึกษา "ปชช." อยากเห็นประสิทธิภาพ "สภาฯ" ตรวจสอบ "รัฐบาล"
สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาออนไลน์ ฉายฉากทัศน์การเมืองไทย ต้องจัดสมดุล3ส่วน ทั้ง พลเมือง-สภาฯ-บริหาร เผย "ประชาชน" ต้องการแก้รธน. ขีดเส้นขาดคุณสมบัติ รมต. เบี้ยวตอบกระทู้สดเกิน3ครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ส่องอนาคตการเมืองไทเพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน โดยนักวิชาการสถาบันนำเสนอผลงานศึกษาและวิจัย พร้อมข้อเสนอแนะต่อการเมืองไทยในภาวะปัจจุบัน
โดย น.ส.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัย และพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นำเสนอรายละเอียดต่อหนึ่งต่อการปรับปรุงระบบงานนิติบัญญัติเพื่อตรวจสอบรัฐบาล ว่า การตรวจสอบฝ่ายบริหารของสภาฯ ในส่วนของการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ที่พบปัญหาว่านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเลี่ยงตอบกระทู้ ทำให้มีข้อเสนอจากประชาชนว่า หากรัฐมนตรีไม่ตอบกระทู้สด จำนวน 3 ครั้ง ให้ถือว่า ขาดคุณสมบัติ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอให้ปรับปรุงการตรวจสอบ โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สิทธิ ส.ส. สามารถยื่นญัตติขออภิปรายรัฐมนตรีได้เป็นรายบุคคล เพื่อให้เกิดการตรวจสอบรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีความรับผิดชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้สิทธิ ส.ส.ทุกคนที่ยื่นญัตติได้ แต่จำกัดปีละ 1 ครั้ง
น.ส.ถวิลวดี กล่าวด้วยว่า ในผลการศึกษาของสถาบันพบว่าเมื่อฝ่ายบริหารเข้มแข็ง ประชาชนจะอ่อนแอ ส่วนสถาบันรัฐสภาที่ผ่านมาตรวจสอบฝ่ายบริหารได้น้อย แม้จะทำงานด้านนิติบัญญัติแต่จะถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหาร ส่วนพรรคการเมืองนั้นพบว่ามีความเป็นตัวแทนประชาชนน้อย ถูกครอบงำ แต่สิ่งที่ดีขึ้นคือมีความหลากหลายในพรรคการเมืองและมีผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
“ฉากทัศน์ทางการเมืองที่จะสร้างการเมืองให้สมดุล คือ ต้องมีนักการเมือง รัฐสภามีความเป็นมืออาชีพ และนำแก้ปัญหาสังคมได้ ขณะที่ฝ่ายบริหารต้องเน้นอำนาจและประโยชน์ของส่วนรวม ลดความเหลื่อมล้ำ และ การเมืองที่นำโดยภาคพลเมือง ใช้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เน้นการกระจายอำนาจ ทั้งการเมือง การคลัง การตลาด พร้อมกับสร้างประชาธิปไตยจากฐานราก ทั้งนี้ทุกอำนาจต้องตรวจสอบถ่วงดุลสมดุล โดยสิ่งที่ขับเคลื่อนฉากทัศน์การเมืองที่ต้องการได้ ต้องเปลี่ยนผ่าน ประชาชนร่วมกำหนดนโยบาย ไม่ใช่ให้ฝ่ายบริหารหรือนักการเมืองทำเท่านั้น ที่ผ่านมาพูดว่าทำ ทำ ทำ จะบอกว่าจะกี่บิ๊กล็อกไม่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้” น.ส.ถวิลวดี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับข้อศึกษาของนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ได้สะท้อนความเห็นที่น่าสนใจ อาทิ นายทศพล สมพงษ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การออกแบบพลเมืองให้มีสำนึกทางการเมืองของพลเมืองไม่สามารถพัฒนาหรือเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ เพราะนโยบายรัฐไม่ชัดเจนและบางครั้งถูกตีความในหลากหลายแง่มุม นอกจากนั้นคือการใช้นโยบาประชานิยมที่เน้นการพึ่งพิงรัฐ ทำให้ไม่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงความไม่ธรรรมทางกฎหมาย และการเปลี่ยนแปลงค่านิยม ที่นำโดยทุนนิยม เน้นวัตถุ เน้นตนเองได้ประโยชน์มากกว่าการทำงานเพื่อส่วมรวม
“การเมืองภาคพลเมือง ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง แต่คือการสร้างความรู้ความเข้าใจการเมืองภาคพลเมือง สร้างพื้นที่แสดงออกทางสาธารณะให้พลเมือง เช่น การแลกเปลี่ยนความเห็น กำหนดข้อแนะในการเสนอพัฒนาประเทศ ร่วมกับการเมืองภาคผู้แทน ไม่ใช่พื้นที่กำแพงรอบทำเนียบ หรือ บนถนน และที่สำคัญ คือ ต้องปรับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ปฏิรูปราชการที่ยึดรัฐเป็นศูนย์กลางเป็นยึดพลเมืองเป็นศูนย์กลาง ผมเชื่อว่าหากทำได้ การเมืองภาคพลเมืองจะเติบโต” นายทศพล กล่าว
นอกจากนั้นยังมีประเด็นต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดการเลือกตั้งขั้นต้น หรือ ไพรมารี่โหวต ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ในปี 2562 พบว่าเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น และในการเลือกตั้งครั้งถัดไปเนื้อหาที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.จะไม่ถูกนำมาใช้ เนื่องจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขไพรมารี่โหวต เช่น ไม่นำมาบังคับใช้กับทุกเขตเลือกตั้ง
ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอต่อการพัฒนาการเมืองโดยพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองต้องเน้นการให้ศึกษาทางการเมืองกับประชาชน โดยเฉพาะเด็ก และ เยาวชน นอกจากนั้นต้องส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีการกระจายอำนาจ ลดการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก.