เช็คลิสต์กฎหมายใน(เกม)สภาฯ ซ้ำรอย 5 นายกฯแพ้โหวต ?
เป็นสัญญาณแห่งความไม่เชื่อมั่น "สภาฯ" ของ "ผู้นำรัฐบาล" ต่อการถูกตลบหลัง จากพวกเดียวกันเอง ทำให้ถ่ายถอดเป็นคำย้ำและกำกับ การทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล -วิปรัฐบาล ห้ามเบี้ยวประชุมสภาฯ โดยเฉพาะวาระพิจารณาร่างกฎหมายของรัฐบาล หากแพ้โหวตในสภาฯ เกมอำนาจอาจเปลี่ยนมือ
ความไม่ลงรอยกันระหว่างแกนนำ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐกับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ทำให้เห็นปรากฎการณ์ความหวั่นเกรงว่า รัฐบาลจะคุมเสียงข้างมากในสภาฯ ไม่อยู่ และอาจกลายเป็นจุดเพลี่ยงพล้ำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง
อย่างไม่คาดคิด
สิ่งที่จะเป็นชนวนเรื่องนี้ได้ คือ การพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน หรือกฎหมายพิเศษ
ตามรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ที่ระบุถึงการพูดคุยในวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 19 ตุลาคม 2564 ที่ นายกฯประยุทธ์ หัวโต๊ะประชุม ขอให้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลกำชับ ส.ส.ในสังกัด ให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมประชุมสภาฯ สมัยที่จะเปิดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยย้ำ “ห้ามขาดประชุมอย่างเด็ดขาด”
พร้อมทั้งกำกับบทบาทของคณะกรรมการประสานงานร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้ประสานแต่ละพรรคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อมีกฎหมายการเงินเข้าสู่การพิจารณา เพราะหากไม่ผ่าน อาจมีปัญหาได้
ความเสี่ยงที่ “พล.อ.ประยุทธ์” หวั่นเกรงคือการทำตามประเพณีปฏิบัติ ที่ “นายกรัฐมนตรี” ต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 4 ครั้ง คือ
1. สมัยรัฐบาล พระยาพหลพยุหเสนา ลาออกเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2477 เพราะสภาไม่อนุมัติสนธิสัญญาจำกัดยาง
2. สมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลาออกเมื่อ 24 กรกฎาคม 2487 กรณีแพ้การลงมติพระราชกำหนดจัดตั้งเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง และพระราชกำหนดพุทธมณฑลบุรี จ.สระบุรี
3. สมัยรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ ลาออกเมื่อ 18 มีนาคม 2489 กรณีแพ้การลงมติร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน พ.ศ.2548
4. สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ลาออกเมื่อ 6 มีนาคม 2518 กรณีแพ้การลงมติไว้วางใจ ในการแถลงนโยบายต่อสภาฯ
หรืออาจต้องใช้อำนาจยุบสภาฯ เหมือนที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 1 พฤษภาคม 2529 ที่แพ้โหวตพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ. 2529 ที่ ครม. เสนอ
ในรัฐบาลปัจจุบัน พบว่า ครม. มีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่รอการพิจารณาจากสภาฯ จำนวน 8 ฉบับ ได้แก่
พ.ร.บ.ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
โดยร่างกฎหมายเหล่านั้น หากดูรายละเอียดอาจเป็นเพียงการปรับเนื้อหาให้องค์กรหรือหน่วยงานกระชับการทำงาน และทำงานให้ราบรื่น และ ครม. เป็นเพียงตัวแทนของหน่วยราชการเพื่อนำเสนอกฎหมาย แต่หากแพ้โหวตและถูกตีความว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ ย่อมเกิดขึ้นได้
นอกจากนั้น ต้องจับตาการเสนอร่างกฎหมายสำคัญ คือการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อที่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลจะเสนอเป็นพระราชกำหนด หรือร่างกฎหมายปกติ หรือร่างกฎหมายที่มีสถานะเป็นกฎหมายปฏิรูป
ในการประชุม ครม.ช่วงหนึ่ง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม นั้นมีคำชี้แจงจาก “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องระวัง คือ การขับเคลื่อนกฎหมายปฏิรูปประเทศ 5 ปี ที่จะครบ ในเดือนเมษายน 2565 ว่า หากทำกฎหมายไม่แล้วเสร็จ อาจมีปัญหา
สิ่งที่เป็นกฎหมายปฏิรูปที่ยังรอการพิจารณา คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... และ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ... ที่ครม. เสนอ แม้รัฐสภาจะผ่านการพิจารณาไปเมื่อ 17 กันยายน 2564 แต่ยังไม่สามารถลงมติได้ เพราะมีปัญหาเรื่ององค์ประชุม และการเล่นเกมทางการเมืองในสภาฯ
ดังนั้น จึงต้องจับตาว่าการใช้เทคนิคทางกฎหมาย และการวัดพลังของ “ฝ่ายรัฐบาล” ที่ขณะนี้มี “พรรคฝ่ายค้าน” เป็นอริ และเพิ่มเติม “กลุ่มอสรพิษ”ในพรรคร่วมรัฐบาล จะสร้างแรงสะท้านสะเทือนรัฐบาลได้มากน้อยแค่ไหน.