เกมกระชับอำนาจ “บิ๊กตู่- พปชร.” เขย่าขวัญ “พรรคเล็ก”
การเล่นเกมการเมือง ของ "พปชร." ฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ไม่กระเทือนเฉพาะภายในพรรคเท่านั้น เพราะยังมีผลสะเทือนมายังภายนอก ส่งถึง "พรรคเล็ก" ที่ก่อนหน้านี้ "ธรรมนัส พรหมเผ่า" เคยเป็นผู้ดูแล อีกทั้งหากความขัดแย้งนี้ไม่จบ ผลลัพท์สุดท้าย "สูญพันธุ์พรรคเล็ก" อาจเกิดขึ้น
การปรับโครงสร้างบริหารของ “พรรคพลังประชารัฐ” รอบนี้ ถูกจับตามอง จาก “พรรคร่วมรัฐบาล” ด้วยอาการหวาดผวา
โดยเฉพาะ "กลุ่มพรรคเล็กร่วมรัฐบาล” ที่ต่างรู้สึกถึงความไม่มั่นคง เพราะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการกระชับอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้
อย่างที่รู้กันว่า ขั้วขัดแย้งสำคัญใน “พลังประชารัฐ” คือ ขั้ว “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรค กับ “ผู้นำนอกพรรค” “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งทั้ง 2 ฝั่งต่างพยายามสะสมจำนวน "ส.ส.” ไว้ในมือ
ด้าน “ธรรมนัส” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้สะสมบารมี และกำลังส.ส. ไว้กลุ่มก้อนหนึ่ง และเคยถูกขนานามว่าเป็น “พี่ใหญ่” ของ “พรรคเล็กร่วมรัฐบาล” เพราะนอกจากเป็นคนประสานงานแล้ว ยังมีหน้าที่ดูแล - เลี้ยงดู - ช่วยเหลือ
ล่าสุด “อิทธิพล” ของธรรมนัสในสัดส่วนพรรคเล็กร่วมรัฐบาลยังมีอยู่ ใน “ก๊วนพรรคปัดเศษ” ได้แก่ พรรคเพื่อชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคไทรักธรรม พรรคพลังชาติไทย และ พรรคประชาธรรมไทย ที่เพิ่งขอเลิกเป็นพรรคการเมือง รวม 9 เสียง ซึ่งก๊วนนี้ มี “นันทนา สงฆ์ประชา”และ “พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค” ทำหน้าที่ผู้ประสานงาน
ก่อนหน้านี้ “ธรรมนัส” พยายามขยาย “ก๊วน” สะสม ส.ส. จากพรรคเล็ก แต่ถูกเขี่ยให้พ้นจากตำแหน่ง และเกิดเรื่องผิดใจกับ “ผู้นำรัฐบาล” ความพยายามจึงไม่สำเร็จ
ทำให้กลุ่มพรรคเล็กร่วมรัฐบาลที่เหลือ 5 พรรค คือ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคชาติพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังท้องถิ่นไท และ พรรคเศรษฐกิจใหม่ รวม 21 เสียง ยังปักหลัก และอิงอยู่ข้าง “พล.อ.ประยุทธ์”
แม้ “บิ๊กตู่" จะไม่ประกาศตัวเป็นผู้นำเหนือก๊วนส.ส. ชัดเจน แต่เป็นที่รู้กันว่า มีเครือข่ายที่พร้อมเดินงานให้
ทว่า แรงกระเพื่อมภายใน “พรรคแกนนำรัฐบาล” ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง “พรรคการเมือง” กับ “รัฐบาล” ทำให้ ก๊วนพรรคเล็กคลางแคลงใจ และหวั่นไหว
กลัวว่าเมื่อเอกภาพของรัฐบาล จากพลังประชารัฐไม่มี “ผู้นำรัฐบาล” จะเดินต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะเกมในสภาฯ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของ ส.ส.
แม้ “พลังประชารัฐ” จะมี ส.ส.ในมือ 117 เสียง และมีพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนาสนับสนุนหลัก
หากการเมืองภายในของพรรคแกนนำรัฐบาลไม่มั่นคง และยังมัวแต่เล่นเกมการเมือง เขย่าอำนาจ อาจกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เพลี่ยงพล้ำกลางสภาฯ ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ที่เป็นชนวนชี้อนาคตได้ว่า จะอยู่หรือไป
หากเกิดอุบัติเหตุการเมืองถึงขั้นต้องยุบสภาในภาวะที่ทุกอย่างไม่พร้อม ทั้งสถานการณ์โรคระบาด - ภาวะการเมือง - งบประมาณ - กติกาเลือกตั้ง
ฝั่งที่เสียเปรียบมากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้น “พรรคเล็ก” ร่วมรัฐบาลที่มีความเสี่ยง “สูญพันธุ์ถาวร” อย่างที่หลายฝ่ายเคยประเมินไว้.