“ปธ.วิปรัฐบาล” ป้ายแดง “สายตรง” คุมความมั่นคงนายกฯ

“ปธ.วิปรัฐบาล” ป้ายแดง “สายตรง” คุมความมั่นคงนายกฯ

ค่อนข้างแน่ชัดว่า สเปคประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ ที่เข้ามาขัดตาทัพในช่วงที่รัฐบาลเหลือวาระอีกปีกว่านี้ ต้องเป็นคนที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ไว้ใจได้ ไม่มีลูกตุกติก วางยา หรือทำให้สภาล่ม

 

ถึงจังหวะไฟท์บังคับให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาล ต้องมองหา "ประธานวิปรัฐบาล" หรือประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลคนใหม่ เมื่อคดีเก่าไล่ทัน “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประธานวิปรัฐบาลต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ 

โดย ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีทุจริตการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มูลค่าความเสียหาย 4,459 ล้านบาท

จากเดิมที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดประทับรับฟ้องวันที่ 20 ธ.ค. แถมพูดกันไกลถึงขั้นจะสามารถยื้อเวลาให้ศาลเลื่อนประทับรับฟ้องได้อีกอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่จู่ๆ กลับเจอสถานการณ์ฟ้าผ่า โดยที่ “วิรัช” ยังไม่ทันตั้งตัว

ไม่ใช่แค่ “วิรัช” ที่งงๆ ขนาด “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระดับนกรู้ข่าวอินไซด์ชัวร์ๆ ยังตกใจ เพราะเป็นสถานการณ์กะทันหันไม่คาดฝัน พอๆ กับกรณีปลด 2 รัฐมนตรี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” และ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ที่มารู้เอาทีหลัง

ปรากฏการณ์ที่เกิดในช่วงเวลาสำคัญ จังหวะเริ่มเปิดสมัยประชุมสภา ที่จำเป็นต้องมีคนประสานงานกับทุกภาคส่วน ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมถึง ครม.

มาถึงจุดนี้ รัฐบาลก็ต้องรีบหาคนแทน ที่สำคัญประธานวิปรัฐบาล คุณสมบัติต้องครบเครื่อง ทันเกม แก้เกม เฉพาะหน้าในสภา เพราะสมัยประชุมนี้ มีกฎหมายสำคัญของรัฐบาลเตรียมเข้าพิจารณาทุกอย่างจึงต้องมั่นใจได้ว่าจะไม่สะดุด

ที่สำคัญในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีบางคน ต้องเผชิญเกมโหวตสวนของขาใหญ่ในพลังประชารัฐ 

ตั้งแต่นั้นมา “พล.อ.ประยุทธ์” จึงไม่ไว้ใจใครในพลังประชารัฐ โดยเฉพาะขาใหญ่รายนี้ ที่นอกจากมีบทบาทในพรรค ยังมีบทบาทอย่างมากในสภา เคยก่อกบฏ ด้วยการจะใช้เสียง ส.ส.ยึดอำนาจ แต่แผนไม่สำเร็จ เมื่อ ส.ส.หลายคนไม่เอาด้วย

ดังนั้นจึงค่อนข้างแน่ชัดว่า สเปคประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ ที่เข้ามาขัดตาทัพในช่วงที่รัฐบาลเหลือวาระอีกปีกว่านี้ ต้องเป็นคนที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ไว้ใจได้ ไม่มีลูกตุกติก วางยา หรือทำให้สภาล่ม

จะว่าไปแล้ว ตำแหน่งนี้ที่ดูเหมือนเป็นงานง่าย แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่ว่าใครจะเป็นก็เป็นได้ ด้วยรูปแบบงานที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ต้องเป็นมือประสาน 10 ทิศ รู้จักผ่อนสั้น ผ่อนยาว ประนีประนอม แบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น

ทั้งยังต้องทำหน้าที่เหมือนครูใหญ่ คอยกำชับ ติดตามดูแลเสียงโหวตของฝ่ายรัฐบาล กวดขันเรื่องการเข้าประชุม ที่บางนัดมีความสำคัญ ทำอย่างไรให้ ส.ส.ไม่ขาด ไม่ลา ทุกอย่างต้องเป๊ะซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ คนที่จะมาทำหน้าที่นี้ จึงต้องมีคุณสมบัติและคอนเนคชั่นที่พิเศษกว่า ส.ส.ทั่วไป

หนึ่งในแคนดิเดตที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเวลาคือ “นิโรธ สุนทรเลขา” ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ด้วยประสบการณ์ในสภา เป็นส.ส. มาสมัยที่ 4 มีความอาวุโสระดับหนึ่ง 

ที่ผ่านมา “นิโรธ” ไม่เคยปรากฏภาพความเป็นคู่ขัดแย้งกับใครในพรรค จึงถูกคาดหมายว่า จะขยับขึ้นเป็นประธานวิปรัฐบาลคนต่อไป

ในทางลับ “นิโรธ” คือหนึ่งในขุนพลที่ต่อสายไปยัง ส.ส.นครสวรรค์ ให้ช่วยโหวตไว้วางใจ “พล.อ.ประยุทธ์” ในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจปฏิบัติการของ “นิโรธ” จึงได้ใจนายกฯ ประยุทธ์ อยู่ไม่น้อย ระยะหลังจึงถือเป็นสายตรงทำเนียบฯ อีกราย เพียงแต่ไม่ทำงานเอาหน้า

ถึงแม้บทบาทของ “นิโรธ” ภายในพรรคพลังประชารัฐยังไม่โดดเด่น แต่ในทางการเมืองบารมีสามารถสร้างกันได้ เพราะมีสารพัดปัญหาในพรรคให้ต้องจัดระเบียบใหม่

ขณะเดียวกัน “พล.อ.ประยุทธ์” และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จำเป็นต้องมีคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจคอยคุมเกมในสภา ซึ่งชื่อของ “นิโรธ” อยู่ในโฟกัสของ “2 ป.” ที่จะใช้เป็นหมากตัวสำคัญ ในการยึดพรรคพลังประชารัฐ

ที่สำคัญต้องตอบโจทย์การทำงานของรัฐบาล ที่ต้องการอยู่ให้นานที่สุด เพื่อรอคะแนนนิยมกลับมานำหน้าพรรคการเมืองคู่แข่ง การบริหารจัดการงานรัฐสภาต้องเดินควบคู่ไปอย่างราบรื่น ดังนั้นขุมกำลังภายในพรรคพลังประชารัฐต้องเหนียวแน่น

แม้ที่ผ่านมา จะเคยมีชื่อบุคคลอื่นในพรรคหลุดลอยมาในตำแหน่งนี้บ้างก็ตาม เช่น "วีระกร คำประกอบ" ส.ส.นครสวรรค์ หรือ "บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์" ส.ส.พะเยา สายตรง ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค เป็นต้น

“ปธ.วิปรัฐบาล” ป้ายแดง “สายตรง” คุมความมั่นคงนายกฯ

หากดูจากบริบทการเมืองเวลานี้ การจะเบียดขึ้นมาของสายธรรมนัส คงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อแต่ละคนที่เคยมีบทบาท ค่อยๆ ถูกริบดาบ ตัดวงจรพาวเวอร์ ไล่มาตั้งแต่กรณี ธรรมนัส และ "นฤมล ภิญโญสินวัฒน์" ถูกปลดพ้นรัฐมนตรีรวมถึงการขาดคีย์แมนอย่าง"วิรัช" ในช่วงนี้

รวมถึงโครงสร้างใหม่พลังประชารัฐ ที่กำลังเตรียมเขย่ากันใหม่ บทบาทเลขาฯ พรรคอาจลดลงไม่ต้องจัดแจงงานทุกอย่างครอบจักรวาลอีกต่อไป

ท้ายที่สุด ไม่ว่า “ประธานวิปรัฐบาล” ตัวเลือกจะเป็นใคร อย่างน้อยต้องทำให้การผ่านกฎหมายในสภาฯ ราบรื่น และต้องไม่เกิดขบวนการล้มกระดานนายกฯ ภาค 2 ขึ้นมาอีก

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์