ฉบับเต็ม! พฤติการณ์ “ม็อบราษฎร” ล้มล้างการปกครอง-ห้ามเคลื่อนไหวในอนาคต?
พยานหลักฐานประจักษ์ชัดว่าผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรเครือข่าย ใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง มีส่วนจุดประกายการอภิปราย ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ ทำลายหลัก “เสมอภาค” และ “ภราดรภาพ” นำสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ ว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย กรณีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของกลุ่มแกนนำแนวร่วม “ม็อบราษฎร” ได้แก่ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์) และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) กรณีปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ในการชุมนุมเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
โดยก่อนอ่านคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านรายการพิจารณาคดีและพิจารณาคำร้องของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ที่ขอให้แก้ไขคำสั่งที่ผิดพลาด และมีคำสั่งให้ไต่สวน ลงวันที่ 29 ต.ค. 2564 โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2564 ศาลมีคำสั่งให้ยุติการไต่สวน เพราะพยานหลักฐานเพียงพอพิจารณาวินิจฉัยได้ และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติกันในวันนี้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
อย่างไรก็ดีนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายอานนท์ นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายภาณุพงศ์ และ น.ส.ปนัสยา ได้ขออนุญาตไม่ฟังการพิจารณา และขอออกจากห้องพิจารณาคดี โดยทั้ง 3 ราย กล่าวต่อศาลทำนองเดียวกันว่า ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเปิดการไต่สวน และได้พาตัวพยานคือ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) ปัญญาชนสยาม มาเพื่อทำการไต่สวน แต่เมื่อศาลไม่อนุญาตให้มีการไต่สวน จึงได้รับคำขอมาจากนายอานนท์ และนายภาณุพงศ์ว่า ขอไม่ฟังการพิจารณาคดีนี้
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วยืนยันตามมติเดิมคือยุติการไต่สวน เนื่องจากพยานหลักฐานเพียงพอพิจารณาวินิจฉัยได้ และการดำเนินการเป็นระบบไต่สวน ดังนั้นจึงทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามาเป็นลายลักษณ์อักษร และผู้ถูกร้องได้ชี้แจงมาครบถ้วนแล้ว นอกจากนี้ยังใช้เวลาพิจารณาประมาณปีเศษ จึงมีความรอบคอบ หาพยานหลักฐานในการไต่สวนจากที่ต่าง ๆ ตลอดเวลา โดยศาลจะบันทึกว่า ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกร้องที่ 1-2 และ น.ส.ปนัสยา เดินทางมาศาล แต่ได้ออกจากห้องพิจารณาคดีก่อน
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย เรื่องพิจารณาที่ 19/2563 คำวินิจฉัยที่ 19/2564 ลงวันที่ 10 พ.ย. 2564
ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจง พยานหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งบันทึกเสียงการปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ฟังเป็นยุติว่า ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ปราศรัยในที่สาธารณะหลายครั้ง หลายสถานที่ต่อเนื่องกัน นับตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2563 เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 10 ส.ค. 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1-3 อภิปรายให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันฯ ด้วยข้อเรียกร้อง 10 ประการ โดยมีสาระสำคัญคือ ยกเลิกมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ คือการห้ามฟ้องกษัตริย์ และเพิ่มให้สภาผู้แทนราษฎรฟ้องกษัตริย์ได้ รวมถึงยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเปิดให้ประชาชนใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ รวมถึงนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯทุกคน เป็นต้น
กรณีมีข้อโต้แย้งที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า คำร้องคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และไม่ครบองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่ ศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำร้อง และเอกสารประกอบคำร้อง เป็นกรณีผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ณ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน จัดที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีเนื้อหาบิดเบือน จาบจ้วง ล้อเลียน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสถาบันฯ เป็นการกระทำเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยอ้างเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งถอดคลิปเสียง ที่แสดงถึงการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 กับพวก ประกอบมาท้ายคำร้อง ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้อง
คำร้องจึงมีความชัดเจน และเพียงพอทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 เข้าใจสภาพของการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหา สามารถต่อสู้คดีได้ ดังนั้นข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นว่า หลักการตามรัฐธรรมนูญ วางรากฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ระบอบประชาธิปไตยฯ) โดยคุณค่าทางรัฐธรรมนูญ แก่นของปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ประกอบด้วยคุณค่าสำคัญได้แก่ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีการบัญญัติไว้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 และบัญญัติเรื่อยมาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ยกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ที่ระบุถึงสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยมาประกอบ พร้อมอธิบายว่า การกำหนดหลักประกันเสรีภาพของประชาชน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการเฉพาะ และส่วนที่กฎหมายอื่นมิได้บัญญัติห้ามไว้ ปวงชนชาวไทยย่อมมีสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญทุกกรณี โดยมีเงื่อนไขว่าการใช้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นคุ้มครอง ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
เมื่อบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพ ย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาด้วย ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 (1) (3) (6) รวมถึงมาตรา 49 ที่เกี่ยวกับบุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯมิได้ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 มุ่งหมายให้ปวงชนชาวไทยทุกคน มีส่วนร่วมปกป้องและพิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยฯ และกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจทำหน้าที่ตรวจสอบ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่ล้มล้างการปกครองดังกล่าว
โดยมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ปี 2560) ถูกบัญญัติครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2495 มาตรา 35 และบัญญัติทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มาทุกฉบับ วางหลักปกป้องระบอบประชาธิปไตยฯ เพื่อป้องกันการคุกคามซึ่งการกระทำของการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มุ่งหมายให้คุณค่ารัฐธรรมนูญ รองรับการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยฯ ไม่ให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป
ขณะที่หลักการตามมาตรา 49 วรรคสอง ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยนั้น ถูกบัญญัติครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 และบัญญัติทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญปี 2550 และปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์คือ ถ้ามีผู้ล้มล้างการปกครองมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้
ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เอกสาร พยานหลักฐานต่าง ๆ จากอัยการสูงสุด (อสส.) ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จ.ปทุมธานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยการปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1-3 จัดเวทีปราศรัยกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมีบทลักษณะห้ามใช้สิทธิและเสรีภาพในการล้มล้างการปกครอง ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และปี 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 และคำวินิจฉัยที่ 3/2562 (กรณีพรรคไทยรักษาชาติ) วางหลักคำว่า “ล้มล้าง” ว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญ และระบอบการปกครองที่สุดวิสัยจะแก้ไขกลับคืนได้ เป็นการกระทำ ทำลาย หรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่อีกต่อไป การใช้สิทธิและเสรีภาพเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในที่เคารพ สักการะ เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเกินความพอเหมาะพอควร ส่งผลให้กระทบกระเทือนและอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยฯ ในที่สุด
พระมหากษัตริย์ กับชาติไทย เป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และดำรงอยู่ด้วยกันในอนาคต ไทยมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยปวงชนชาวไทยเห็นพ้องต้องกันอันเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถวายความเคารพสักการะผู้ใดละเมิดมิได้ เพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ดังที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2475
โดยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2475 เห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์การปกครองของไทย อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด นับตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์มีพระราชภารกิจสำคัญยิ่งเพื่อรักษาความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชน โดยดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย นำกองทัพต่อสู้ปกป้อง และขยายราชอาณาจักรตลอดเวลา ในยุคที่ผ่านมาถือหลักปกครองตามหลักศาสนา และทศพิธราชธรรมปกครอง พระมหากษัตริย์จึงเป็นที่เคารพศรัทธา ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดหลายร้อยปี แม้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 คณะราษฎรผู้ก่อการ และประชาชนชาวไทย เห็นพ้องต้องกันอันเชิญพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักคงอยู่กับระบอบประชาธิปไตย โดยเรียกว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และราชอาณาจักรคงไว้ซึ่งระบอบนี้ต่อเนื่อง ทำนองเดียวกับประเทศต่าง ๆ ที่มีความเป็นมาของชาติแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือเอกลักษณ์ หรือสัญลักษณ์ และทรัพย์สมบัติชาติ จะมีกฎหมายห้ามทำให้มีมลทิน หรือชำรุด
ดังนั้นข้อเรียกร้องให้มีการยกเลิกการรับรองพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ ประมุขของรัฐ ผู้ใดจะกล่าวหาละเมิดมิได้ จึงเป็นการกระทำเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยฯ เรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะ อ้างเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ละเมิดสิทธิและเสรีภาพประชาชนอื่นได้ด้วย เป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นทำตาม
ผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย แม้การปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 จะผ่านไปแล้ว แต่ภายหลังผู้ร้อง (นายณฐพร โตประยูร) ยื่นคำร้องต่อศาล ปรากฏว่าผู้ถูกร้องที่ 1-3 ยังคงร่วมชุมนุมกับบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลปราศรัย ใช้กลยุทธไม่มีแกนนำ แต่มีรูปแบบการกระทำ กลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกันกับผู้ถูกร้องที่ 1-3 และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะขบวนการเดียวกัน มีเจตนาเดียวกันกับผู้ถูกร้องที่ 1-3 กระทำซ้ำ และกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทำเป็นขบวนการ ปลุกระดม ใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ก่อให้เกิดความรุนแรง และความวุ่นวายในสังคม
ระบอบประชาธิปไตย มีหลักการ 3 อย่างคือ “เสรีภาพ” ทุกคนคิดพูดทำอะไรก็ได้ที่ไม่มีกฎหมายห้าม “เสมอภาค” ทุกคนเท่าเทียมกัน “ภราดรภาพ” บุคคลทั้งหลายมีอันหนึ่งอันเดียวกัน เกื้อกูลฉันท์พี่น้อง มีความสามัคคีกัน ระบอบประชาธิปไตยฯ ด้วยความผูกพันขของปวงชนชาวไทย กับพระมหากษัตริย์ที่มีมานับหลายร้อยปี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงได้รับความยินยอมจากปวงชนชาวไทย ใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล
สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ดังนั้นการกระทำใด ๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าการพูด เขียน หรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรืออ่อนแอลง ย่อมมีเจตนาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงหลัก “เสมอภาค” และ “ภราดรภาพ” ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างจากบุคคลอื่น และละเมิดสิทธิส่วนตัวคนอื่น ด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นด้วยข้อเท็จจริง บิดเบือนจากความเป็นจริง
พยานหลักฐานประจักษ์ชัดว่าผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรเครือข่าย ใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง มีส่วนจุดประกายการอภิปราย ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ ทำลายหลัก “เสมอภาค” และ “ภราดรภาพ” นำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยฯในที่สุด
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า การชุมนุมหลายครั้ง มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยการลบสีน้ำเงินออกจากธงชาติ หมายถึงการลบสถาบันฯออกจากธงชาติ ข้อเรียกร้อง 10 ประการ ของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติตลอดมา
พฤติการณ์ในการปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ในวันที่ 10 ส.ค. 2563 และพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ต่อเนื่องหลังจากนั้น แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ว่า การใช้มสิทธิหรือเสรีภาพโดยมีเจตนาซ่อนเร้นในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่เป็นการปฏิรูป และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต มีการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นแล้ว แต่ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมทั้งกลุ่มลักษณะองค์กรเครือข่าย ยังกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง