เปิดแฟ้มผลงาน 4 “นักร้อง” ชงองค์กรอิสระ-ศาล พลิกโฉมหน้า “การเมืองไทย”
เปิดแฟ้มผลงาน 4 “นักร้อง” มือชงองค์กรอิสระ-ศาล พลิกโฉมหน้าการเมืองไทย “ไพบูลย์” ล้มรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ยุบพรรค “ทษช.” -“ศรีสุวรรณ” คนชงยุบ “อนาคตใหม่” - “ณฐพร” ล้ม “ม็อบราษฎร” - “เรืองไกร” ตำนานโค่น “สมัคร” สอบ “ทักษิณ” ซุกหุ้น
แม้คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 กรณี 3 แกนนำ “ม็อบราษฎร” ได้แก่ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์) และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) ปราศรัยในม็อบวันที่ 10 ส.ค. 2563 จะจบลงด้วยการ “ล้มล้างการปกครอง” ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
แต่คำวินิจฉัยชิ้นนี้ มิใช่แค่ “ยุติ” บทบาทความเคลื่อนไหวของ “การเมืองบนท้องถนน” ในเวลานี้เท่านั้น แต่อาจผูกพันบานปลายไปถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอย่าง “พรรคก้าวไกล” พยายาม “จุดพลุ” ขึ้นอีกครั้งด้วย?
สิ่งต่าง ๆ ที่จะถูกบันทึกเป็น “ประวัติศาสตร์การเมือง” เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าปราศจาก “ผู้ร้องเรียน”
กรุงเทพธุรกิจ พลิกปูม 4 “นักร้อง” ชื่อดังแห่งยุค และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทย “ตลอดกาล” มานำเสนอ ดังนี้
1.นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกลุ่ม “40 ส.ว.” มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบพรรคเครือข่ายตระกูล “ชินวัตร” มาอย่างต่อเนื่อง คือผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2557 ให้วินิจฉัยสถานะความเป็นรัฐมนตรี ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ เวลานั้น สิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมิชอบ
ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ “เอกฉันท์” ชี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำ มิใช่ข้าราชการการเมือง เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนเกิด “สุญญากาศทางการเมือง” นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นนายไพบูลย์เข้าร่วมสังฆกรรมกับ “แม่น้ำ 5 สาย” โดยเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ) ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานฯ
ต่อมาก่อนการเลือกตั้งในเดือน มี.ค. 2562 นายไพบูลย์ คือบุคคลที่ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ระงับกรณีพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) หนึ่งในพรรค “แตกแบงก์ร้อย” ตามกลยุทธ์ของ “ทักษิณ” โดยมีการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีรายชื่อของ ทษช. เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 ท้ายที่สุด กกต. ได้ระงับการเสนอชื่อ และส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า การกระทำของ ทษช. เป็นการ “ล้มล้างการปกครอง” หรือไม่ กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ยุบพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ก่อนหน้าการเลือกตั้ง ส.ส. จะเกิดขึ้นในอีก 17 วันข้างหน้า คือวันที่ 24 มี.ค. 2562
นายไพบูลย์ ที่ตั้งฉายาตัวเองว่า “ซามูไรกฎหมาย” ยังสร้าง “อภินิหารทางกฎหมาย” อีกครั้ง ด้วยการยุบพรรค ปชช. ของตัวเอง แล้วย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายหลังการเลือกตั้ง หลังจากนั้นพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสถานะ ส.ส.ของนายไพบูลย์ ทว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าสถานะ ส.ส.ของนายไพบูลย์ ไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากการสิ้นสภาพของพรรค ปชช. เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และการย้ายพรรคในสถานะ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ส.ส.
การ “ยุบพรรคตัวเอง” ของนายไพบูลย์ดังกล่าว ถูกสื่อขนานนามว่า “ไพบูลย์โมเดล” และมี “พรรคจิ๋ว” เดินตามรอยแล้วอย่างน้อย 1 พรรคคือ พรรคประชานิยม ที่มี พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ เป็นหัวหน้าพรรค
2.นายศรีสุวรรณ จรรยา หรือที่สื่อมวลชนเรียกขานกันว่า “พี่ศรี” ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผลงานสร้างชื่อของ “พี่ศรี” ก่อนหน้านี้คือเป็น “ตัวแทน” รับเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เกี่ยวกับผลกระทบในโครงการต่าง ๆ ของรัฐ และได้รับชัยชนะเรื่อยมา จนเข้ามามีบทบาททางการเมืองเพิ่มเติมในยุคปลายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์กรอิสระต่าง ๆ ให้ตรวจสอบ “นักการเมือง-พรรคการเมือง” ที่ปรากฏ “ข่าวฉาว” ต่าง ๆ
แต่ผลงานที่ถูกบางฝ่ายหยิบยกว่าเป็น “มาสเตอร์พีซ” ของ “พี่ศรี” คือ กรณีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต. ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย “ยุบพรรค” อนาคตใหม่ จากกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค แถลงข่าวตอนหนึ่งบอกว่า ได้ปล่อย “เงินกู้” ให้แก่พรรคอนาคตใหม่ยืม รวม 191.2 ล้านบาท โดย กกต. ดำเนินการสอบสวนและส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า การกู้เงินดังกล่าวของพรรคอนาคตใหม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 72 กรณีรายได้ของพรรคชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากให้ “ยุบพรรค” อนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่าการกู้เงินดังกล่าวไม่ชอบด้วย พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ และสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ทำให้นายธนาธร นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค ต้องถูก “ตัดสิทธิทางการเมือง” และไปจัดตั้ง “คณะก้าวหน้า” ในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดี “พี่ศรี” ยังยื่นเรื่องร้องเรียน “จิปาถะ” เพื่อให้ตรวจสอบทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ อีกหลายสิบเรื่องด้วยกัน บางเรื่ององค์กรอิสระตีตกคำร้อง บางเรื่องอยู่ระหว่างการสอบสวน เช่น กรณีการถือครองใบ ภบท.5 ของนักการเมือง รวมถึง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล น.ส.ปารีณา ผิดมาตรฐานจริยธรรมฯอย่างร้ายแรง และส่งคำร้องไปยังศาลฎีกา โดยศาลฎีกาประทับรับฟ้องทำให้ น.ส.ปารีณา ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และพ้นตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 (กมธ.งบฯ) ในตอนนี้
3.นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก่อนหน้านี้เจ้าตัวตกเป็น 1 ใน 14 ผู้ถูกกล่าวหา ที่โดนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการตรวจสอบคดี “ฟอกเงิน” จากการขายที่ดินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มูลค่ากว่า 477 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเรื่องนี้ยังไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการว่า สถานะของคดีไปถึงไหนแล้ว และนายณฐพร ยังตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาอยู่อีกหรือไม่
มาดูที่บทบาททางการเมืองของเจ้าตัวกันบ้าง หลังจากถูดีเอสไอตรวจสอบเรื่องดังกล่าว นายณฐพร เริ่มมีการเคลื่อนไหว โดยเป็นผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย “ยุบพรรค” อนาคตใหม่ (เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีปล่อยกู้เงินของนายธนาธร) ในคดีกล่าวหา “ล้มล้างการปกครอง” โดยโยงใยเรื่องสัญลักษณ์ “สามเหลี่ยม” ของพรรคเข้ากับสัญลักษณ์ “อิลลูมินาติ” องค์กรในทฤษฎีสมคบคิดของต่างประเทศ เรียกเสียง “ขำขัน” ให้กับสังคมหลายฝ่าย เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ตามคำร้องดังกล่าว
คราวนี้นายณฐพร หมายมั่นปั้นมือแก้ตัวใหม่ ท่ามกลางกระแสเรียกร้อง “ทะลุเพดาน” ของ “ม็อบราษฎร” จากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน นักศึกษา และประชาชนจำนวนมาก เจ้าตัวยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การปราศรัยของบรรดาแกนนำ “ม็อบราษฎร” เป็นการ “ล้มล้างการปกครอง” หรือไม่ โดยท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ว่า การปราศรัยของ “ม็อบราษฎร” ดังกล่าวเป็นการ “ล้มล้างการปกครอง” พร้อมสั่งห้าม “กลุ่มองค์กร” ในลักษณะเดียวกันเคลื่อนไหวอีกในอนาคต
4.นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ชื่อนี้ “การันตี” ฝีมือ “ของจริง” มีบทบาทในแวดวงการเมืองมายาวนานกว่า 20 ปี เคยเป็น ส.ว. และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการตรวจสอบรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร โดยเป็นหนึ่งในผู้เปิดโปงและยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบกรณี “ซุกหุ้น” ของ “ทักษิณ” จนทำให้ “นายใหญ่ดูไบ” ต้องหล่นวาทกรรมในตำนานอย่าง “บกพร่องโดยสุจริต” และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยด้วยมติ “เฉียดฉิว” 8 ต่อ 7 เสียง เห็นว่า นายทักษิณ มิได้ซุกหุ้น รอดพ้นได้จัดตั้งรัฐบาล และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2544 ได้สำเร็จ
ต่อมาเมื่อปี 2551 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง นายสมัคร สุนทรเวช ก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีท่ามกลางข้อครหาเป็น “นอมินี” ของนายทักษิณ ที่ถูกรัฐประหาร และหลบหนีคดีไปต่างประเทศ นายเรืองไกร แกนนำกลุ่ม “40 ส.ว.” ขณะนั้น คือคนยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสถานะของนายสมัคร กรณีทำรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ขณะนั้น) โดยอ้างว่า นายกรัฐมนตรี ห้ามมีตำแหน่งหรือเป็นลูกจ้างของเอกชนรายใด จนสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า นายสมัคร เป็นลูกจ้างของเอกชน ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป
ทว่าบทบาทของนายเรืองไกรหลังจากนั้น มีการโยกย้าย “สลับฝั่ง” มาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แม้จะมีการยื่นเรื่องร้องเรียนตรวจสอบ “ฝั่งตรงข้าม” อยู่บ้างประปราย แต่ก็ “ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน” สักเท่าไหร่นัก โดยในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 นายเรืองไกรนำข้อมูลจากสื่อกรณีการจัดโต๊ะจีนของพรรคพลังประชารัฐ วงเงินกว่า 532 ล้านบาท และข้อครหาว่ามี “ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ไปร่วมงานด้วยหรือไม่ มาร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบ ทว่า กกต. มีมติเห็นว่า การจัดงานโต๊ะจีนระดมทุนดังกล่าวทำโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่พบว่ามีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไปร่วมหรือเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
กระทั่งเมื่อปี 2564 นายเรืองไกร “พลิกขั้ว” อีกครั้ง ลาออกจากพรรคเพื่อไทย มาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ทำหน้าที่ตรวจสอบ “พรรคเพื่อไทย” แทน แต่ก็ยังไม่มีผลงานอะไรที่เป็นรูปธรรมมากนัก
ทั้งหมดคือบทบาทของ 4 “นักร้อง” ชื่อดัง ที่เป็นผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์กรอิสระ-ศาลให้ตรวจสอบ จนมี “บางกรณี” เรียกได้ว่า “พลิกโฉมหน้า” การเมืองไทยไปตลอดกาลอย่างทุกวันนี้!