“ร่าง รธน.” ภาค ปชช.ส่อแท้ง! 3 ส.ว.ขวาง สภาเดี่ยวไม่เหมาะ-แทรกแซงองค์กรอิสระ
3 ส.ว.ประสานเสียง “ร่าง รธน.” ภาค ปชช.มีสิทธิ์แท้งสูง “เสรี” ชี้เนื้อหาเปิดช่องแทรกแซงองค์กรอิสระ-ศาล "กิตติศักดิ์" ลั่นไม่ใช่ปฏิรูปแต่เป็นปฏิวัติ "สภาเดี่ยว" ไม่เหมาะกับไทย "วันชัย"ค้านหัวชนฝา เหน็บฉบับ "ล้ม-โละ-เลิก"
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2564 นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 คนเป็นผู้เสนอ โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ในวันที่ 16 พ.ย. 2564 และจะมีการลงมติในวันที่ 17 พ.ย. 2564 ว่า ในวันที่ 15 พ.ย. 2564 เวลา 08.30 น. ส.ว.จะเปิดเวทีย่อยพูดคุยเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนว่า มีประเด็นแก้ไขเรื่องใด ด้วยเหตุใดบ้าง เหมาะสมจะแก้ไขหรือไม่
นายเสรี กล่าวว่า จะให้ ส.ว.แสดงความคิดเห็น มุมมองต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ส่วนการลงมติโหวตวาระแรกในวันที่ 17 พ.ย. 2564 จะให้เป็นดุลยพินิจของ ส.ว.แต่ละคนในการลงมติ ส่วนตัวดูแล้วมีโอกาสผ่านยาก เพราะเนื้อหาที่เสนอแก้ไขเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง รัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง องค์กรอิสระ และยังเปิดช่องให้แทรกแซงการทำงานของศาล และองค์กรอิสระได้
“ฝ่ายที่เสนอมารู้อยู่แก่ใจว่า โอกาสไม่ผ่านมีสูง แต่ยังเสนอเข้ามา เพื่อใช้สร้างความชอบธรรมในการเรียกมวลชนว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนถูกปฏิเสธโดยรัฐสภา ต้องการให้รัฐสภาถูกเข้าใจผิดจากประชาชน ทั้งที่รัฐสภาไม่มีเจตนาเช่นนั้น แต่รัฐสภาพร้อมให้ความสำคัญและรับฟังเสียงประชาชน แต่ข้อเสนอเป็นปัญหาจริง ๆ ถึงขั้นทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่มีข้อยุติ ยิ่งทำให้สร้างความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถรับร่างได้” นายเสรี กล่าว
@"กิตติศักดิ์"ฉะไทยไม่เหมาะสภาเดี่ยว ชี้ร่าง รธน.ฉบับปฏิวัติไม่ใช่ปฏิรูป
ขณะที่นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ขอฟันธง 100% ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะไม่ผ่านวาระรับหลักการจากรัฐสภา ไม่มี ส.ว.ให้ความเห็นชอบเกิน 1 ใน 3 หรือ 84 คนแน่นอน เนื้อหาที่เสนอแก้ไขไม่เรียกว่า "ปฏิรูป" แต่เป็นการ "ปฏิวัติ" เพราะเป็นการแก้ไขทั้งโครงสร้างรัฐสภา ศาล และองค์กรอิสระให้เอาตามที่ฝ่ายตนเองต้องการ โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้เหลือเพียงแค่สภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ทำให้ขาดการถ่วงดุล ซึ่งส.ว.ไม่ติดใจที่เสนอให้ยกเลิกวุฒิสภา เพราะ ส.ว.อยู่ตามรัฐธรรมนูญอีกแค่ 2 ปีกว่า ก็จะหมดหน้าที่แล้ว
“แต่กังวลอนาคตประเทศ ถ้าเหลือแค่สภาเดียว ไม่เหมาะสมกับประเทศไทยแน่ ยิ่งไปแก้โครงสร้างศาล องค์กรอิสระเพิ่ม ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ถ้าอ้างรายชื่อประชาชน 100,000 คน สนับสนุนร่างแก้ไขฉบับนี้ ขอให้ดูความเห็น 16 ล้านคนที่ให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย อย่างไรก็ตาม เราให้ความสำคัญกับประชาชนหลักแสนคนที่เสนอให้แก้ไข แต่ถ้าหลักการที่เสนอมาไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ต่อให้มีรายชื่อมากเท่าไร ก็ให้ผ่านไม่ได้” นายกิตติศักดิ์ กล่าว
นายกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา จะไม่เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง มีการชุมนุมมากขึ้น เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ระบุไว้ชัด จะเคลื่อนไหวในลักษณะหมิ่นเหม่ไม่ได้ หลังจากนี้ฝ่ายการเมืองต้องคิดว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรเป็นที่สิ้นสุด หากยังไปสนับสนุนการเคลื่อนไหวต้องพิจารณาจะได้คุ้มเสียหรือไม่ อาจถูกยุบพรรคได้ ข้อหาล้มล้างการปกครอง การเป็นกบฏมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต
@"วันชัย"ค้านหัวชนฝา เหน็บฉบับ "ล้ม-โละ-เลิก"
วันเดียวกัน นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ส.ว.จะได้มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือกันในวันที่ 15 พ.ย. 2564 โดย ส.ว.ส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะฟังจากกระแสเสียงแล้ว แม้แต่สภาผู้แทนราษฎรเองส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าไม่รับ จะมีรับก็พรรคการเมืองบางพรรคเท่านั้น
นายวันชัย กล่าวว่า เท่าที่ดูหลักการและเหตุผลในร่างดังกล่าวแล้วก็คงไม่รับ ซึ่งตนไม่ได้มองแค่เรื่องยกเลิกส.ว.อย่างเดียว เวลาเรามอง เราตัดประเด็นนี้ออกมา เพราะห่วงว่า ประชาชนจะมองว่า เรามีจิตใจลำเอียง แต่เราถือว่า ร่างฉบับนี้เป็นฉบับที่ล้ม โล๊ะ เลิก หรือฉบับปฏิวัติ เสมือนหนึ่งว่า ขออำนาจมายกเลิกองค์กรต่างๆ ทำโดยต้องสรรหาในสภาฯ ผู้แทนฯเป็นองค์กรเดียวที่ใหญ่ในแผ่นดิน โดยไม่คำนึงถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ทำให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงได้ ทั้งอำนาจในกองทัพ อำนาจในองค์กรอิสระ อำนาจในศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจในตุลาการ นั่นหมายความว่าการแบ่งแยกอำนาจนั้นจบโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากลของประชาธิปไตย ฉะนั้นพิจารณาเรื่องเดียวก็เห็นว่าไม่ควรให้ผ่าน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการไม่ให้มีส.ว.
“จึงเห็นได้ว่าผู้ที่เสนอร่างนี้ก็รู้อยู่แล้วว่าเสนอมาก็คงไม่ผ่านอยู่แล้ว เราเชื่อเหลือเกินว่า ส.ส.ก็ไม่รับ ส.ว.ก็ไม่รับ แต่คนเสนอคงต้องการแสดงสัญลักษณ์หรือแสดงจุดยืนเท่านั้นเอง ฉะนั้นร่างนี้จึงไม่ตื่นเต้น เร้าใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร จึงเป็นเรื่องของการแสดงวาทกรรมในสภาฯ เท่านั้นเอง” นายวันชัย กล่าว
เมื่อถามว่า หากร่างนี้ไม่ผ่านมองว่าจะมีการปลุกกระแสความรุนแรงหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ตนไม่มองว่าเป็นเรื่องของการปลุกกระแสอะไร เพราะเรื่องปลุกกระแสมีมาโดยตลอด ซึ่งตนเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาแรงกว่าเสียอีก จึงเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับไม่ผ่านสภาฯ ก็ไม่มีการลุกฮือแต่อย่างใด เพราะไม่ได้ต่างจากการปราศรัยในทุกครั้งที่ผ่านมา ดังนั้นส.ว.ไม่มีอะไรที่ต้องเตรียมเพียงแต่ต้องทำความเข้าใจให้สมาชิกได้รับรู้ รวมถึงกำชับเรื่ององค์ประชุมและวันโหวต แต่เนื้อหามองดูแล้วไม่มีอะไรผ่าน