แกะรอยพรรคอะไหล่ “ประยุทธ์” “ไทยสร้างสรรค์” ที่อยู่ร่วม “ชาติพัฒนา” ?

แกะรอยพรรคอะไหล่ “ประยุทธ์” “ไทยสร้างสรรค์” ที่อยู่ร่วม “ชาติพัฒนา” ?

“พรรคไทยสร้างสรรค์” กลับมาโลดแล่นอีกครั้งบนกระดานการเมืองไทย ท่ามกลางสถานการณ์ “เกาเหลา” ของ “พี่น้อง 3 ป.” และช่วงเวลาจะมีการเลือกตั้งในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกล ท้ายที่สุด “ลุงตู่-พี่ป๊อก” จะ “เคาะ” เลือกเป็น “พรรคสำรอง” หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

พรรคไทยสร้างสรรค์” ชื่อนี้กำลังมาแรงอย่างมาก

เพราะแว่วมาว่าถูกดันเป็น “พรรคสำรอง” ของ “พี่น้อง 2 ป.” ได้แก่ “บิ๊กตู่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ “บิ๊กป๊อกพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ยังคง “ระหองระแหง” กับ “พี่ใหญ่” อย่าง “บิ๊กป้อมพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกางปีกปกป้อง “ผู้กองคนดัง” และ “อาจารย์บิ๊กอาย” อยู่

ในช่วงที่ผ่านมา “พี่น้อง 2 ป.” พยายามจะผลักดันคนของตัวเองเข้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หวังปรับโครงสร้างพรรคใหม่ แต่ถูก “กีดกัน” โดย “ผู้กองคนดัง” ที่ขนาบข้างกาย “บิ๊กป้อม” แทบจะตลอดเวลา?

แกะรอยพรรคอะไหล่ “ประยุทธ์” “ไทยสร้างสรรค์” ที่อยู่ร่วม “ชาติพัฒนา” ?

จึงไม่แปลกใจที่มีกระแส “ข่าวลือ-ข่าวปล่อย” ว่า “พี่น้อง 2 ป.” ต้องทำพรรคใหม่ เพื่อกระชับอำนาจทางการเมือง โดยมี “ขุนพล” จาก 6 รัฐมนตรีที่ประกาศตัวอยู่ข้าง “ลุงตู่” มาโดยตลอด ได้แก่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง พ่วงด้วย “ครูตั้น” นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ และอดีตแกนนำกลุ่ม กทม.ใน พปชร. เป็นมือไม้คอยเคลื่อนไหวอยู่ “ฉากหลัง

แกะรอยพรรคอะไหล่ “ประยุทธ์” “ไทยสร้างสรรค์” ที่อยู่ร่วม “ชาติพัฒนา” ?

พรรคไทยสร้างสรรค์” มาจากไหน?

กรุงเทพธุรกิจ รายงานแล้วว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 15 พ.ย. 2564 มีจำนวน 85 พรรค โดยมีพรรคจัดตั้งขึ้นใหม่ 2 พรรคในวันเดียวกัน คือวันที่ 25 ต.ค. 2564 ได้แก่

พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) ซึ่งมี “เครือญาติ-ลูกน้อง” ของนางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล สามี และ รมช.พาณิชย์ นั่งเป็นหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค

อีกพรรคคือ “ไทยสร้างสรรค์” หรือ ท.ล.ส. มีนายธำรงค์ เรืองธุระกิจ เป็นหัวหน้าพรรค และ น.ส.ญาณิศา จันทร์เรือง เป็นเลขาธิการพรรค มีโครงสร้างกรรมการบริหารพรรครวม 10 คน ที่ตั้งพรรคอยู่ที่ 357 ถ.สุทัย แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กทม.

จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า นายธำรงค์ เรืองธุระกิจ เป็นนายสนามของงานแข่งรถยนต์ชื่อ “KPM Trackday” โดยปัจจุบันข้อมูลในส่วนนี้ถูกตั้งเป็น Private บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว ขณะที่บุคคลในตระกูล “เรืองธุระกิจ” ปรากฏชื่อเป็นกรรมการบริษัทหลายแห่ง

ส่วน น.ส.ญาณิศา จันทร์เรือง ปรากฏชื่อเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่

1.บริษัท รชานนท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2548 ทุนปัจจุบัน 84 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 555/1 หมู่ที่ 7 ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อมุ่งค้าหรือหากำไร ปรากฏชื่อ นายจุมพล ใคร่ครวญ นายชัยณรงค์ พิบูลย์จักรวาล นางลักษณพร ใคร่ครวญ นางสาวญาณิศา จันทร์เรือง เป็นกรรมการ นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีรายได้รวม 40,502,746 บาท รายจ่ายรวม 35,561,530 บาท เสียภาษีเงินได้ 988,406 บาท กำไรสุทธิ 4,941,216 บาท

2.บริษัท วี สตอรี่ 2019 จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 184/26 หมู่ที่ 1 ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน ประกอบกิจการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ปรากฏชื่อ นางสาวญาณิศา จันทร์เรือง นางสาวกนิษฐา เหลืองกังวานกิจ เป็นกรรมการ ยังไม่มีข้อมูลงบการเงิน

แกะรอยพรรคอะไหล่ “ประยุทธ์” “ไทยสร้างสรรค์” ที่อยู่ร่วม “ชาติพัฒนา” ?

ที่น่าสนใจคือที่ตั้งสำนักงานของ “พรรคไทยสร้างสรรค์” อยู่ที่ 357 ถ.สุทัย แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กทม. ซึ่งเป็นที่ตั้งเดียวกันกับพรรคการเมืองชื่อดังอย่าง “พรรคชาติพัฒนา” ด้วย?

ข้อมูลจากเว็บไซต์พรรคชาติพัฒนา ระบุว่า สำนักงานใหญ่ของพรรคตั้งอยู่ที่ 357 ถ.สุทัย แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กทม. และมีสำนักงานอีกแห่งอยู่ที่ 222/2 ถ.มิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา

นอกจากนี้ชื่อ “พรรคไทยสร้างสรรค์” ก่อนหน้านี้เคยโลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมืองไทยมาแล้วเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ระหว่างปี 2553-2554 โดยข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษา ระบุว่า พรรคไทยสร้างสรรค์ (เดิม) ถูกจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2553 โดยใช้ชื่อย่อว่า “ท.ส.” มีเครื่องหมายพรรคเป็นรูปวงกลมสามสี เหลือง แดง น้ำเงิน ติดกันอยู่กึ่งกลาง และมีวงกลมใหญ่สองวง แถบสีแดงของวงกลมใหญ่มีชื่อ พรรคไทยสร้างสรรค์ อยู่แถบสีแดง มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 92/34 อาคารเอื้ออาทร 36 ต.บางปรอก อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี

มีคณะกรรมการบริหารพรรค 11 คน ได้แก่ นายวิบูลย์ แสงกาญจนวนิช เป็นหัวหน้าพรรค นายนอม ใจคุ้มเก่า และนายเอกราช สิงห์คำ เป็นรองหัวหน้าพรรค นายวิษณุภตฆ์ พีรเจริญวงส์ เป็นเลขาธิการพรรค น.ส.ประทุม อ้นคำ เป็นรองเลขาธิการพรรค น.ส.ปิยวรรณ ลวณางกูร เป็นเหรัญญิกพรรค นางอำไพ กาฬพันธ์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค นายปวิตร ปานสถิตย์ เป็นโฆษกพรรค นายประสิทธิ์ พุกเงิน นางสมนึก จิตรีเนตร และนายเกรียงสิน เจริญฉิม เป็นกรรมการบริหารพรรค

อย่างไรก็ดีเมื่อต้นปี 2554 นายวิบูลย์ ลาออกจากสมาชิกพรรคและหัวหน้าพรรค รวมถึงกรรมกาบริหารพรรคอีก 4 รายได้ลาออกพร้อมกัน ทำให้กรรมการบริหารพรรคที่เหลืออยู่ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด

ทว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปเมื่อเดือน ส.ค. 2554 “พรรคไทยสร้างสรรค์” ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อด้วย จำนวน 3 คน ได้แก่ นายเจตนรินทร์ เปี่ยมราศี นายเอกราช เจียมอุย และนายเอกฉัตร ชูชื่นกลิ่น

กระทั่งในเดือน พ.ย. 2554 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ นายวิบูลย์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคไทยสร้างสรรค์ ได้แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง กรณีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2554 มีมติให้เลิกพรรคไทยสร้างสรรค์ และนายทะเบียนโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กกต. เห็นชอบให้สั่งเลิกพรรคดังกล่าว

แกะรอยพรรคอะไหล่ “ประยุทธ์” “ไทยสร้างสรรค์” ที่อยู่ร่วม “ชาติพัฒนา” ?

สำหรับนายวิบูลย์ แสงกาญจนวนิช เมื่อปี 2556 เคยเป็นหัวหน้า “พรรคถิ่นกาขาว” ส่วนนางอำไพ กาฬพันธ์ เคยเป็นเลขาธิการพรรค ลงชิงชัยเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ด้วย แต่ครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะไป (ปัจจุบันพรรคถิ่นกาขาวมิได้มีนายวิบูลย์ เป็นหัวหน้าพรรค และนางอำไพ เป็นเลขาธิการพรรคแล้ว)

ทั้งหมดคือที่มาของ “พรรคไทยสร้างสรรค์” ผ่านไปราว 10 ปีชื่อนี้กลับมาโลดแล่นอีกครั้งบนกระดานการเมืองไทย ท่ามกลางสถานการณ์ “เกาเหลา” ของ “พี่น้อง 3 ป.” และช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลหลังจากนี้

ท้ายที่สุด “ลุงตู่-พี่ป๊อก” จะ “เคาะ” เลือกพรรคนี้เป็น “พรรคสำรอง” จริงหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไปอย่ากระพริบตา!