“ก้าวไกล” ผิดหวัง “กสทช.” ไม่ยับยั้ง “ทรู-ดีแทค” ควบรวม ปชช.รับกรรมทุนผูกขาด
“พรรคก้าวไกล” ผิดหวัง “กสทช.” ไม่มีอำนาจยับยั้ง “ทรู-ดีแทค” ควบรวมกิจการ ห่วงประชาชนรับกรรม “ทุนผูกขาด” ชี้เป็นอภินิหารทางกฎหมายเปิดช่องให้ เคราะห์ตกอยู่กับประเทศชาติ ทนรับผลกระทบ เหตุหน่วยงานรัฐไม่ปกป้องผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกล ยืนยันจุดยืนการคัดค้านการควบรวมบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ ทรู และ ดีแทค ตนกับพรรคก้าวไกลรู้สึกผิดหวังต่อท่าทีของ กสทช. ที่ปรากฎในข่าวว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการยับยั้งการควบรวมบริษัทในครั้งนี้ เพราะบริษัทแม่ที่ควบรวมไม่ใช่บริษัทที่ได้รับใบอนุญาต แสดงถึงช่องโหว่ทางกฎหมายที่ใหญ่มาก หากไม่มีหน่วยงานรัฐใดเลย ไม่ว่าจะเป็น กสทช. หรือ กขค. ที่สามารถยับยั้งการควบรวมครั้งนี้ได้
นายวรภพ กล่าวอีกว่า ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เป็นธุรกิจที่มีปราการกีดขวางผู้ให้บริการรายใหม่เข้าสู่ตลาด หรือ Barrier to entry สูง ทำให้ธุรกิจนี้เป็นตลาด Oligopoly หรือที่เรียกกันว่าตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยราย จนแทบจะมีสภาพเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ ดังนั้น การควบรวมระหว่างทรูและดีแทค ภายใต้บริษัทแม่ คือเครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ จึงเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะตัดตัวเลือกที่มีน้อยอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีกเพื่อลดการแข่งขัน จากเดิมที่ประชาชนมีตัวเลือกในการใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์อยู่ 3 ตัวเลือก หากเกิดการควบรวมขึ้นก็จะเหลือเพียง 2 ตัวเลือกเท่านั้น
“นับว่าเป็นเรื่องที่ประหลาดอย่างมากจนนึกไม่ออกเลยว่ามีธุรกิจประเภทไหนบ้างที่มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 600,000 ล้านบาท แต่กลับมีผู้ให้บริการที่แข่งขันกันเพียง 2 ราย หากเกิดการควบรวมขึ้น ผู้ให้บริการ 2 รายนี้จะมีส่วนแบ่งตลาดรายละ 50% โดยประมาณ และผู้ให้บริการทั้ง 2 รายนี้ จะไม่เหลือแรงจูงใจให้แข่งขันกันอีกต่อไป เพราะทั้ง 2 รายสามารถอยู่เป็นเสือนอนกินที่ไม่มีใครต่อกรได้” นายวรภพ กล่าว
นายวรภพ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ หากในอนาคต ผู้ให้บริการรายหนึ่งเพิ่มราคาค่าบริการ อีกรายก็คงพร้อมที่จะเพิ่มราคาค่าบริการตาม เพราะไม่มีความจำเป็นต้องคงราคาค่าบริการเดิมหรือลดราคาค่าบริการลงเพื่อแย่งฐานลูกค้า เนื่องจากลูกค้าเดิมที่มีอยู่ครึ่งประเทศก็เพียงพอที่จะแบ่งเค้กกันอย่างลงตัวแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ผู้ให้บริการรายที่ 2 จะทำเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้กำไรสูงสุด ก็คือการเพิ่มราคาค่าบริการให้สูงเท่าบริษัทแรก เคราะห์กรรมก็จะตกสู่ประชาชนผู้ใช้บริการเพราะไม่มีทางเลือก ไม่สามารถย้ายค่ายหนีไปไหนได้ เนื่องจากทั้งตลาดเหลือผู้ให้บริการอยู่เพียง 2 ค่าย ที่คิดราคาค่าบริการเท่ากัน ไม่นับกับเรื่องการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ในอนาคตที่เมื่อเหลือผู้ให้บริการเพียง 2 เจ้า การแข่งขันเพื่อแย่งชิงคลื่นความถี่ก็คงไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป ผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย สามารถแบ่งเค้กสัมปทานคลื่นความถี่ของรัฐกันได้โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงมากนัก ผลเสียก็ตกอยู่กับประเทศชาติเพราะจะทำให้ขาดรายได้จำนวนมหาศาล
“ในส่วนข้อกล่าวอ้างที่ว่าต้องการหาพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจนั้น ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าการหาพันธมิตรเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ หาพันธมิตรใหม่ๆ จากต่างประเทศก็สามารถทำได้ แต่ไม่เกิดขึ้น ส่วนที่เกิดขึ้น คือการเลือกพันธมิตรที่ไม่ต่างจากการล็อกสเปคเพราะต้องการรวมฐานผู้ใช้บริการเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงเป็นลำดับที่ 1 ของประเทศภายหลังการควบรวม ที่จะส่งผลสำคัญทำให้การแข่งขันในตลาดหายไปเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วการกระทำนี้อาจไม่ใช่การแสวงหาพันธมิตร แต่คือการควบรวมธุรกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อการผูกขาดตลาด” นายวรภพ กล่าว
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า ชนชั้นนำในประเทศไทยเคยชินกับการเอาชนะคู่แข่งด้วยการผูกขาดมากกว่าจะแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพ เหตุผลก็เพราะการเอาชนะด้วยการผูกขาดนั้นง่ายกว่าที่จะต้องมาลงทุนลงแรงเสียเวลาในการพัฒนาเป็นอย่างมาก การเอาชนะด้วยการผูกขาดนั้น ขอเพียงมีเส้นสายมีอำนาจก็สามารถกำจัดคู่แข่งออกจากกระดานการแข่งขันได้อย่างง่ายดาย ปัญหาที่สำคัญ คือชนชั้นนำเหล่านี้ไม่ได้หยุดการผูกขาดอยู่เฉพาะกับการเอาชนะกันทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่การยุบพรรคการเมืองออกจากสนามแข่งขันก็อยู่บนฐานคิดที่ว่านี้เช่นเดียวกัน สำหรับชนชั้นนำจารีตแล้ว วิธีที่จะทำให้ตนเองชนะการเลือกตั้ง ไม่ใช่การแข่งกันพัฒนาพรรคการเมืองให้ดียิ่งขึ้น แต่คือการกำจัดศัตรูคู่แข่งออกไป ดังนั้นการรักษา “ตัวเลือก” และ “การแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม” จึงเป็นหัวใจหลักของการป้องกันการผูกขาด เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถแข่งขันและพัฒนาไปข้างหน้าได้ภายใต้กติกาที่เป็นธรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ไม่ว่าตัวเลือกนั้นจะหมายถึง บริษัท ธุรกิจ หรือพรรคการเมืองก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่ตัวเลือกเหล่านั้นต้องการชนะใจประชาชน พวกเขาก็จะไม่มีทางลัดทางอื่นนอกจากต้องแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นไปเท่านั้น
“สุดท้ายนี้ในนามของพรรคก้าวไกล เราอยากจะขอให้ประชาชนทุกคน รวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีนโยบายต่อต้านการผูกขาด ช่วยกันลุกขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงยับยั้งความพยายามที่จะผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคมครั้งนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป” นาย วรภพ กล่าว