“ธนาธร” ฟันธง “ทรู-ดีแทค” ควบรวม ค่าบริการแพงขึ้น จี้ กสทช.ปกป้อง ปชช.
“ธนาธร” ชี้ “ทรู-ดีแทค” ควบรวม ฟันธงทำค่าบริการแพงขึ้นแน่ จี้ กสทช.-กขค.ปกป้องผลประโยชน์ประชาชน ยกงานศึกษา OECD ชี้ 18 ประเทศควบรวมกิจการโทรคมนาคม กว่าครึ่งค่าบริการแพงขึ้น ไร้การกำกับดูแล หวั่นให้บริการร่วมมือรัฐสอดส่องประชาชนมากขึ้น ชวนสังคมจับตา-กดดันรัฐเบรก
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมพูดคุยกับวงสนทนาทางแอพพลิเคชั่น Clubhouse ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะก้าวหน้า ในหัวข้อ “ทรูควบรวมดีแทค ดีกับทุนใหญ่ แล้วคนไทยได้อะไร?” พร้อมแสดงความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน จากกรณีการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคมสองราย คือระหว่าง True Corporations (ทรู) และ Dtac (ดีแทค) ที่เป็นกระแสข่าวอยู่ในรอบสองวันที่ผ่านมา
นายธนาธรระบุว่า ในทศวรรษที่ 2010s ถึง 2020s มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมจาก 4 เหลือ 3 รายเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แล้วมีผลกระทบเกิดขึ้นกับผู้บริโภคในด้านราคา ซึ่งกรณีนี้มีรายงานอยู่ในงานศึกษาของ The European Regulator for Electronic Communications ผู้คุมกฎด้านการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรป ที่ได้ศึกษาการควบรวมผู้ให้บริการจาก 4 เหลือ 3 ผู้ให้บริการในสามประเทศ คือเยอรมนี ไอร์แลนด์ และออสเตรีย
ในกรณีเยอรมนี หลังจากที่ควบรวมไป 1 ปี ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้นจาก 10 ยูโรเป็น 13 ยูโร เพิ่มขึ้น 30% ส่วนในไอร์แลนด์ เพิ่มจาก 16 ยูโรเป็น 18 ยูโร เพิ่มขึ้น 12.5% ในขณะที่ออสเตรีย เพิ่มขึ้นจาก 12 ยูโรเป็น 15 ยูโร หรือ 25% แล้วยังมีกรณีศึกษาของ OECD (องค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ในช่วงระหว่างปี 2000-2015 ศึกษาการควบรวมกิจการโทรคมนาคมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีการควบรวมจาก 4 บริษัทเหลือ 3 บริษัททั้งหมด 18 ประเทศ พบว่ามีการขึ้นราคาค่าบริการหลังจากการควบรวม 9 กรณี และมีราคาที่ลดลงหลังการควบควม 9 กรณีด้วยกัน ซึ่งหมายความว่า ถ้าดูกรณีของยุโรปอย่างเดียวสามกรณี ราคาเพิ่มขึ้นทั้งหมด แต่ถ้าดูทั่วโลกของ OECD มีการขึ้นราคาครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งยังเป็นอัตราที่น่ากลัวมาก หมายความว่าหลังจากควบรวมแล้ว มีโอกาสที่ราคาจะเพิ่มขึ้นถึง 50%
นายธนาธร กล่าวอีกว่า ส่วนในกรณีของไทย นี่จะเป็นการควบรวมจาก 3 รายไปเหลือ 2 ราย ซึ่งส่วนแบ่งตลาดปัจจุบัน ดูจากผู้ใช้บริการของแต่ละราย จะเห็นว่า AIS มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 40% True 30% Dtac 19% ซึ่งถ้ารวมกันแล้ว หากเกิดการควบรวมขึ้นจริงจะมีหนึ่งรายที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งถึง 49% กลายเป็นการแข่งขันเพียงสองเจ้า ซึ่งมีแนวโน้มอย่างมากว่าทั้งสองเจ้าจะพอใจกับส่วนแบ่งตลาดที่ตัวเองถือครองอยู่ และจะไม่เกิดการแข่งขันขึ้นอีกต่อไป และมีความเป็นไปได้มาก ว่าอำนาจในการกำกับสองผู้เล่นนี้จะน้อยลงมาก ตนไม่ไว้ใจกลุ่มทุนทั้งสองกลุ่ม ว่าจะแข่งขันกันโดยเอาผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นตัวตั้ง และตนไม่คิดว่าจะมีหน่วยงานราชการใดมีความกล้าหาญพอที่จะไปตรวจสอบหลังจากที่ควบรวมแล้ว
นายธนาธร กล่าวว่า ผลกระทบที่ตนกังวลอีกประการหนึ่ง ก็คือการแข่งขันที่ไม่มีพลวัตร ไม่มีแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการคิดค้นนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ จะทำให้นวัตกรรมจะขับเคลื่อนได้ช้าลง ซึ่งนี่เป็นอันตรายมากต่อศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้หน่วยงานของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) หรือ กขค. (สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า) ไม่ลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งหากปล่อยให้เกิดการควบรวมขึ้นมาแล้วมีผลกระทบเกิดขึ้นกับผู้บริโภคจริง ก็จะเป็นการสายเกินไปแล้วที่จะมาแยกออกวันหลัง ตนจึงคิดว่านี่คือจุดที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากของภาคโทรคมนาคมในประเทศไทย ถ้าปล่อยให้มีการควบรวมกันจริง จะเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสมาก สำหรับประเทศที่มีประชากร 69 ล้านคน กับการปล่อยให้มีการควบรวมธุรกิจคมนาคมจาก 3 รายเหลือ 2 ราย
“อย่าปล่อยให้กรณีนี้ผ่านไปโดยที่ไม่ถูกตรวจสอบ เพราะมันจะส่งผลกับทั้งรายได้ในกระเป๋าของทุกท่านเอง ที่จะต้องลดลงไปจ่ายเป็นค่าบริการที่เยอะขึ้น ผมเชื่อว่าราคาเพิ่มขึ้นแน่ ๆ และไม่มีการควบคุมแน่ ๆ และมันจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศด้วย ถ้าธุรกิจคมนาคมโทรคมนาคมไม่มีการแข่งขัน มันจะทำให้ประเทศทั้งประเทศแข่งขันกับโลกไม่ได้เลย” นายธนาธร กล่าว
ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตนกังวลอีกประการหากเกิดการควบรวมขึ้น คือกรณีข้อมูลส่วนบุคคล เพราะอย่างที่เราเห็นมาตลอด ว่ารัฐไทยนิยมการควบคุมประชาชนแบบรัฐตำรวจ การมีผู้ประกอบการโทรศัพท์ที่ถือครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเป็นจำนวนมากเพียงแค่สองเจ้า และยังเป็นกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับคณะรัฐประหาร 2557 ทำให้ตนกังวลเป็นอย่างมาก ว่าหลังจากที่ควบรวมกันแล้วจะไม่มีการปกป้องข้อมูลของประชาชน มีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการให้ข้อมูลส่วนตัวของประชาชนมากขึ้นเพื่อการควบคุมประชาชน
นอกจากนี้ ในโลกสมัยใหม่ที่ 1) ค่าเงิน 2) พลังงาน และ 3) ข้อมูล มีราคาสูง การปล่อยให้เกิดการควบรวมเช่นนี้ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้นไปอีก ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของราคาอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนด้วย เพราะข้อมูลผ่านเทคโนโลยีการสื่อสาร คือหนึ่งในปัจจัยโอกาสการเข้าถึงความรู้ รวมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสทางธุรกิจมหาศาลเลย ถ้าข้อมูลข่าวสารมีราคาที่แพงขึ้น คนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเหล่านี้จะไม่มีทางเข้าถึงความรู้ ไม่มีทางเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจที่เท่าเทียมกันได้เลย
“ราคาของดาต้าที่แพงขึ้นจะทำให้เกิด digital divide ครั้งใหญ่ โอกาสที่คนจำนวนมากจะสามารถปีนป่ายบันไดสถานะทางเศรษฐกิจของตัวเองให้สูงขึ้นไปในระหว่างรุ่นต่อรุ่นมันจะหายไปเลย แล้วผมคิดว่าเรื่องนี้มันเป็นมากกว่าเรื่องค่าบริการมือถือด้วย ถ้าเกิดปล่อยให้มีการควบรวมไป ความเหลื่อมล้ำที่มันถ่างกันมากอยู่แล้วจะถ่างขึ้นไปอีก” นายธนาธร กล่าว
นายธนาธร กล่าวว่า สำหรับบทบาทของ กสทช. ตนคิดว่าสิ่งที่ขาดหายไปเลยคือเจตจำนงที่จะต้องปกป้องผู้บริโภค ผู้ที่เสียเปรียบ และผู้ที่ไม่มีปากไม่มีเสียงในสังคม จากการติดตามข่าวเรื่องนี้มาตลอดสองวันที่ผ่านมา ตนสงสัยมากว่าทำไมหน่วยงานภาครัฐถึงไม่ปกป้องประชาชน แต่กลับเลือกไปปกป้องกลุ่มทุนแทน แม้วันนี้จะยังมีข้อถกเถียงทางกฎหมายว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรไหน แต่สิ่งที่ทุกคนแสดงออกได้เลยคือทัศนคติ ว่าจะเลือกปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ แต่เรากลับไม่เห็นสิ่งนี้ออกมาจากหน่วยงานหรือบุคคลในภาครัฐเลย
“มันเป็นเรื่องปากท้อง มันเป็นเรื่องอนาคตของลูกหลานของเรา ถ้าแรงทัดทานของสังคมไม่พอ ไม่มีแรงหนุนหลังให้คนดี ๆ ที่อยู่ใน กสทช.ลุกขึ้นมากล้าต่อสู้ เรื่องนี้จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงกับพวกเราทั้งหมด ผมคิดว่าเป็นความจำเป็นอย่างมาก ที่เราต้องส่งเสียงร่วมกัน ชักชวนให้ทุกคนช่วยกันพูดให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ ทำให้เกิดแรงกดดันทางสังคมจนหน่วยงานรัฐไม่กล้าที่จะปิดหูปิดตาตัวเอง เพื่อไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติ ในกรณีนี้คือคลื่นความถี่ กลายเป็นทรัพยากรของคนรวย” นายธนาธร กล่าว